การกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ (Condensation ) และการแก้ไข
Condensation หรือการกลั่นตัว คือ ?
การเกิดการกลั่นตัวเป็นน้ำ (Condensation) เป็นรูปแบบของการปลี่ยนสภาพเจากไอน้ำในอากาศเป็นหยดน้ำ ซึ่งจะเกิดกับอุปกรณ์เดินป่าได้ในหลายๆสถานการณ์ครับ ที่พบเห็นมากๆ ก็คือการเกิดหยดน้ำภายในเต็นท์ ในวันที่อากาศมีความชื้น และเย็น จนมีหยดน้ำเกิดภายในเต็นท์ นักเดินทางหลายๆ ท่านก็เข้าใจผิดคิดว่าเต็นท์มีปัญหาน้ำซึมเข้ามาแต่จริงๆ ไม่ใช่ครับ มันเป็นการกลั่นตัวของความชื้นในอากาศเมื่อเจอกับอากาศที่เย็น
ซึ่งการที่อุปกรณ์เปียกชื้นทั้งหลายนี้ ก็มักจะทำให้นักเดินทางไม่ค่อยสบายตัวนัก อีกทั้งยังนำไปสู่การเกิดเชื้อรา หรืออุปกรณ์ได้รับความเสียหายในระยะยาวได้
และนี่คือตัวอย่างสถานการณ์ที่อาจจะเกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำขึ้นได้ แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถจะป้องกันไม่ให้เกิดหยดน้ำขึ้นเลยได้ แต่ถ้าเราเข้าใจว่ามันเกิดจากอะไร เราก็สามารถที่จะบรรเททาให้มันลดลงได้ครับ
เกิดในเต็นท์
การควบแน่นเป็นหยดน้ำในเต็นท์ มักจะเกิดด้านในของฟลายชีท ซึ่งมีสาเหตุมาจากความชื้นในอากาศ ซึ่งจะทำให้ไอน้ำในอากาศกลายสภาพเป็นของเหลว ในขณะที่อุณหภูมิลดลงจนถึง Dew Point ซึ่งจะเป็นจุดไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ (อุณหภูมิที่ทำให้ไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศควบแน่นเป็นน้ำ) ซึ่งเรามักจะพบหยดน้ำจะเกิดขึ้นบนใบหญ้าด้านนอกเต็นท์ และด้านในของวัสดุฟลายชีท
ความชื้นในอากาศที่ทำให้เกิดการกลั่นตัวในเต็นท์ก็จะเกิดจาก ความชื้นในอากาศเอง ความชื้นที่ออกมาจากลมหายใจของคนที่อยู่ภายในเต็นท์ ที่ยิ่งอยู่ข้างในกันหลายคนก็ยิ่งมีโอกาสเกิดมากขึ้น หรือ การเอาอุปกรณ์เดินป่าที่เปียกหรือชื้นไปตากหรือผึ่งด้านในเต็นท์ ซึ่งความชื้นพวกนี้จะไปสัมผัสกับความเย็นที่ผิวของฟลายชีทแล้วเกิดการควบแน่นเป็นหยดน้ำขึ้นมา
การแก้ไข
การกางเต็นท์เข้าหาลม และเปิดช่องระบายอาากศ เพื่อสร้างการไหลเวียนของอากาศเท่าที่เป็นไปได้ในตอนกลางคืน ซึ่งสำคัญมากสำหรับเต็นท์แบบ Single Wall หรือเต็นท์แบบชั้นเดียว เพราะน้ำค้างที่เกิดมีโอกาสจะหยดลงบนตัวผู้นอนภายในได้
การเลือกทำเล การกางเต็นท์ที่ไม่เป็นแอ่งหรือหุบที่ความชื้นหรืออากาศเย็นไปสะสมอยู่ได้ การกางเต็นท์ให้อยุ่ห่างออกไปจากแหล่งน้ำ
ผึ่งเต็นท์ของคุณให้แห้งมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ในตอนเช้า โดยการสะบัดผ้า ผึ่งโดยการแขวนหรือวางไว้กับกิ่งไว้หรือพุ่มไม้ ก่อนที่จะเก็บเต็นท์
ถ้าเต็นท์และฟลายชีทสามารถแยกออกจากกันได้ ให้เก็บแยกส่วนกันไว้คนละถุงในเวลากลางวัน เนื่องจากว่าส่วนฟลายชีทมักจะมีความชื้นอยู่มากกว่าส่วนเต็นท์ชั้นใน มิเช่นนั้น พอเราจะหยิบออกมากางตอนเย็นเราก็อาจจะพบว่าเต็นท์ชั้นในจะเปียกตามไปด้วย
เกิดที่ด้านในของผ้าชั้นนอกของถุงนอน
ในวันที่อากาศเย็นมากๆ ไอน้ำจากตัวผู้นอนจะเกิดการกลั่นตัวเป็นหยุดน้ำด้านในของ shell ของถุงนอน (ผ้าส่วนนอกสุดที่เป็นตัวหุ้มเส้นใยฉนวน) ในสภาพอากาศที่เย็นจัด หยดน้ำที่เกิดนี้จะแข็งตัวอยู่ด้านใน และเมื่อเกิดสภาพนี้ขึ้น แล้ว ถ้าไม่เปลี่ยนไปอยู่ในสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น ก็เป็นการยากที่จะกำจัดความชื้นออกจากถุงนอนได้ ซึ่งเจ้าความชื้นในฉนวนนี้จะไปทำให้เส้นใยของถุงนอน (โดยเฉพาะพวกที่เป็นดาวน์ ขนเป็ด ขนห่าน) สูญเสียความฟูไป ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของถุงนอนลดลง
การแก้ไข
เอาถุงนอนมาผึ่งในตอนเช้า
เกิดในแผ่นรองนอน
แผ่นรองนอนเป็นแบบใช้ปากเป่าจะมีโอกาสเกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำมากกว่า เนื่องจากไอน้ำที่อยู่ในลมหายใจของผู้ใช้จะไปสัมผัสตัวกับผิวของแผ่นรองนอนที่เมื่อโดนอากาศเย็นแล้วก็จะเกิดการควบแน่นขึ้นมาได้ แผ่นรองนอนที่ออกแบบมาใช้ลมมากในการเป่าก็จะเกิดการกลั่นตัวที่มากขึ้นด้วย และเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหากับแผ่นรองนอนได้
แผ่นรองนอนแบบใช้ปากเป่าหลายตัวก็มีเคลือบผิวด้วยลามิเนต ช่วยป้องกันการสะสมของ แบคทีเรีย หรือ เชื้อรา ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นและความเสียหายแก่ตัวแผ่น
การแก้ไข
ถ้าทำได้หลีกเลี่ยงการเป่าแผ่นรองนอนด้วยปาก แล้วจะไปใช้อุปกรณ์เสริมในการปั๊มลมเข้าแผ่นแทน
เนื่องจากแผ่นรองนอนจะวางอยู่บนพื้นที่อากาศเย็น ทำให้มีโอกาสสูงมากที่การเกิดการกลั่นตัวจะเกิดที่ด้านล่างของแผ่น แม้ว่าด้านบนจะดูแห้งดีก็ตาม ถ้าตอนเก็บแผ่นรองนอนคุณม้วนแผ่นรองนอนและรัดไว้แน่นหลายๆวัน ก็อาจจะทำให้เกิดเชื้อราขึ้นบนผิวด้านในแผ่นรองนอนได้
ตากแผ่นรองนอน ควบคู่ไปกับถุงนอนในตอนเช้า ก่อนที่จะพับเก็บ อย่าพับเก็บแผ่นรองนอน และถุงนอนในถุงเดียวกัน เพราะอาจจะทำให้ทั้งแผ่นและถุงนอนชื้นในตอนเย็น
ในถุงกันน้ำ (Dry Bags) ซองใส่ของกันน้ำ
ตอนที่เราจะปิดถุงกันน้ำหรือซองใส่ของที่กันน้ำ ไอน้ำในอากาศจะไปติดด้านใน ถ้าถุงกันน้ำนั้นใช้กับการพายเรือ หรือกิจกรรมทางน้ำ ความเย็นจากอุณหภูมิของน้ำก็อาจจะทำให้เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำด้านในได้เหมือนกันครับ หลายๆ
การแก้ไข
ถ้าคุณเก็บพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิค ในถุงกันน้ำ หรือซองกันน้ำ แนะนำให้ลองใส่ซิลิกาเจลเข้าไปในถุงด้วย เพื่อช่วยดูดความชื้นก่อน ซิลิกาเจลจะช่วยดูดความชื้นไว้ก่อนที่จะเกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำได้
นอกจากที่กล่าวไปแล้วนั้น อุปกรณ์เดินป่าทั้งหมดควรจะถูกผึ่งให้แห้งเมื่อคุณมีเวลาไม่ว่าจะเป็นระหว่างการเดินทาง หรือจบการเดินทางแล้ว ถ้ากลับบ้านก็ควรจะทำเลย หรือถ้ามีช่วงหยุดพักระหว่างเดินทาง มีเวลาก็ผึ่งเลยครับ
ถ้าต้องการเก็บระยะยาว อุปกรณ์ควรจะเก็บในที่มีอากาศถ่ายเท แห้ง ไม่ชื้น เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพครับ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน
พีท