เทคนิคการใช้ไม้เท้าเดินป่าแบบมืออาชีพ
สวัสดีครับ เพื่อนผู้มีใจรักในการเดินทางทุกท่าน ถ้าใครติดตามบทความของร้าน Pete & Paul Outdoor เป็นประจำ คงจะจำได้ว่าเมื่อราว 2 อาทิตย์ก่อน ผมได้นำเสนอ บทความเรื่อง ไม้เท้าเดินป่านั้น สำคัญไฉน ไป ซึ่งในบทความก็ได้กล่าวถึง ความสำคัญและประโยชน์ของไม้เท้าเดินป่า (Trekking Pole) ที่ไม่ใช่เพียงอุปกรณ์พยุงตัวไม่ให้ล้มเท่านั้น ผมได้นำเสนอ ส่วนประกอบต่างๆ ของไม้เท้าเดินป่า ไล่ตั้งแต่ ด้ามจับ ไปจนถึงส่วนปลายตรงที่กระทบพื้น พร้อมหน้าที่การทำงานของแต่ละส่วนกันแล้ว ท่านผู้อ่านก็คงจะพอเห็นภาพการใช้งานกันบ้างแล้ว และถ้าใครจำได้ผมยังติดค้างเรื่องของวิธีการใช้งานอยู่ ว่าต้องใช้อย่างไรจึงจะถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังในวันนี้กัน
การจับไม้เท้าเดินป่า
หลายๆท่านเห็นหัวข้อก็คงเกิดความสงสัย ว่าแค่ถือไม้เท้าก็มีเทคนิคกันด้วยเหรอ แน่นอนครับว่า … มี … การจับไม้เท้าเดินป่าที่ถูกต้องจะมีประโยชน์ในเรื่องของความล้าของมือที่จับ เพราะนอกจากวัสดุของด้ามจับและสภาพภูมิประเทศที่เดิน จะมีผลต่อความเมื่อยมือในการจับแล้ว การที่เรารู้จักท่าจับที่ถูกต้องจะมีส่วนช่วยนักเดินทางได้เป็นอย่างมาก
จุดสำคัญของท่าจับจะอยู่ที่สายคล้องข้อมือ (Wrist Strap) ซึ่งสมัยก่อนผมก็สงสัยมากว่าจะคล้องไปทำไม มารู้เอาที่หลังเมื่อผ่านไปหลายปีแล้วว่า สายคล้องข้อมือจะช่วยรองรับข้อมือ หรือส้นมือ ให้สามารถเดินได้โดยผ่อนคลายที่มือ ถ้าใช้อย่างถูกต้อง จะปล่อยไม้เท้า ไปหยิบจับอะไรได้สะดวก โดยไม่ต้องห่วงว่าไม้เท้าจะหลุดมือเลย เช่น การถ่ายรูป หรือ การกินอาหารเพิ่มพลังระหว่างเดิน ซึ่งสายรัดพวกนี้มีหลายรุ่นที่สามารถปรับระยะสายให้เหมาะกับระยะข้อมือแต่ละคนได้
วิธีการจับไม้เท้าที่ถูกต้อง คือสอดมือตั้งขึ้น เข้าไปในทางใต้สายคล้อง หลังจากนั้นดึงลงมา แล้วกำรวมด้ามจับ (ตามรูปประกอบด้านบน) เทคนิคการจับแบบนี้จะช่วยให้เราผ่อนคลายที่มือได้ระหว่างการเดิน เราสามารถปรับสายให้แน่นขึ้นหรือหลวมอีกหน่อยก็ได้ตามขนาดข้อมือ เพื่อให้สามารถพักข้อมือได้
ตัวอย่างการจับไม้เท้าเดินป่า
ท่าจับและความยาวที่เหมาะสม
การใช้ไม้เท้าเดินป่าที่ถูกต้อง เวลาจับแล้วระดับข้อศอกจะตั้งฉาก หรือทำมุมกัน 90 องศา ด้วยเหตุนี้ ไม้เท้าเดินป่าจึงต้องปรับระดับความสูงของไม้ได้ เพื่อให้เหมาะกับสภาพความสูงของผู้ใช้แต่ละคน ลองสังเกตุดูว่า ไม้เท้าเดินป่าของผู้หญิงจะสั้นกว่าผู้ชายครับ เนื่องจากโดยทั่วไปผู้หญิงจะตัวเล็กกว่าผู้ชาย ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องแบกน้ำหนักเพิ่ม โดยใช้ไม้เท้าที่ยาวกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นเทคนิคการเลือกความยาวไม้เท้าเดินป่าให้เหมาะสมกับตัวเองด้วย
- ถ้าคุณสูงมากกว่า 180 cm ก็ควรจะเลือกใช้ไม้เท้าเดินป่าที่สูงอย่างน้อยที่สุด 130 cm
- ถ้าคุณเตี้ยกว่า 180 cm ก็หายห่วงครับ เพราะไม้เท้าเดินป่าส่วนใหญ่สามารถปรับลดความยาวให้เหมาะกับคุณได้อยู่แล้ว
นอกจากนั้นสภาพภูมิประเทศที่ไปเดินก็มีผลต่อการปรับระดับความยาวของไม้เท้าเดินป่านะครับ การปรับระยะที่ไม่เหมาะสมจะก่อให้เกิดภาระสะสมที่ข้อมือ ไหล่ และหลังได้
- การเดินแบบปกติทั่วไป ให้ปรับระดับความยาวของไม้ให้อยู่ในระดับที่ศอกอยู่ในระยะตั้งฉากกับลำตัว โดยให้วางปลายไม้เท้าลงไปใกล้ๆ กับปลายเท้า แล้วก็ปรับระยะความยาวไม้เท้าให้ได้ศอกที่ตั้งฉากแล้วล็อคระยะไม้เท้าไว้ ที่ตำแหน่งนั้นจะเป็นความยาวไม้เท้าที่เหมาะสมในการเดินของคุณ
- การเดินขึ้นเขาต่อเนื่อง การเดินขึ้นเขานั้น ระดับพื้นข้างหน้าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ วิธีการที่แนะนำคือปรับลดระยะความยาวของไม้เท้าลงราว 5- 10 cm ขึ้นกับระดับความชัน ยิ่งชันมากไม้เท้าก็จะต้องยิ่งปรับให้สั้นลงมาก ลองสังเกตุท่าทางการเดินถ้าปรับได้ระดับที่เหมาะสมแล้วการเดินจะเป็นธรรมชาติ ไหล่จะไม่ล้า
- การเดินลงเขาต่อเนื่อง การเดินลงเขาจะตรงข้ามกับการเดินขึ้น เพราะระยะของพื้นดินข้างหน้าจะต่ำลง ทำให้เราต้องปรับไม้เท้าให้ยาวกว่าปกติ 5-10 cm ขึ้นกับระดับความชัน ยิ่งทางลงชันมากก็ยิ่งต้องปรับให้ยาวมากขึ้น
- ลักษณะเดินแบบตะแคงข้าง ขึ้นเขา หรือลงเขา ข้างนึงจะขึ้นสูง ข้างนึงจะต่ำ ถ้าแบบนี้ก็ต้องปรับไม้เท้า 2 อันไม่เท่ากันครับ ด้านขึ้นสูงก็ปรับสั้นลง ส่วนด้านต่ำก็ปรับให้ยาวขึ้น
เนื่องจากในสภาพการเดินจริงๆ มันจะมีขึ้นสลับกับลง บ้างทีก็ขึ้นๆ ลงๆ ปกติถ้าเดินลงต่อเนื่องยาวๆ ผมก็จะปรับไม้เท้าให้ยาวขึ้น และถ้าเป็นทางเดินขึ้นยาวๆ ผมก็จะปรับไม้เท้าให้สั้นลง ให้พิจารณาตามความเหมาะสมตามสภาพภูมิประเทศเอาครับ
เทคนิคอีกประการหนึ่งสำหรับไม้เท้าที่มีหลายท่อน ก็คือ การตั้งระยะท่อนบนสุดไว้ที่ประมาณครึ่งหนึ่งก่อน แล้วค่อยไปปรับเพิ่มลดขนาดความยาวที่ท่อนล่างสุด ให้ศอกได้ระยะฉาก วิธีนี้จะช่วยให้เวลาคุณปรับขนาดตอนเดินในภายหลังทำได้ง่ายขึ้น โดยจะปรับแค่ท่อนบนอย่างเดียว ไม่ต้องก้มลงไปปรับท่อนล่างอีก
ท่าเดินที่ถูกต้อง
การใช้ไม้เท้าเดินป่ามีกระบวนท่าด้วยหรือครับ … แน่นอนครับ ว่ามี และแต่ละกระบวนท่าในการใช้ไม้เท้าเดินป่าก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน บางท่าฝึกให้ติดเป็นนิสัย แต่บางท่าก็เอาไว้ใช้เฉพาะกิจ เรามาว่ากันทีละท่ากันเลย
- ท่าเดินแบบขากับมือสลับข้างกัน (Alternate legs ) รูปแบบการเดินแบบนี้ เป็นท่ามาตรฐานทีนิยมใช้กันในสภาพการเดินทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นลักษณะการแกว่งแขนที่เป็นธรรมชาติที่สุด กล่าวคือ จังหวะการเดินจะก้าวเท้าคนละข้างกับมือไปข้างหน้า เช่น ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า จังหวะเดียวกัน มือซ้ายที่ถือไม้เท้าก็จะไปข้างหน้าด้วย แล้วก็จะสลับมาก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า แล้วมือขวาก็จะไปข้างหน้าด้วย ท่าเดินแบบนี้จะช่วยรักษาสมดุลของการทรงตัวได้ดีที่สุด ควรฝึกท่านี้ให้ชินเป็นนิสัยในการใช้ไม้เท้าเดินป่า
- ท่าเดินแบบขากับเมือไปทางเดียวกัน (Parallel legs) แบบนี้จะเป็นลักษณะที่ขากับมือข้างเดียวกัน ไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน คือ ก้าวเท้าซ้าย กับมือซ้ายไปพร้อมๆ กัน เท้าขวากับมือขวาไปพร้อมๆกัน ท่าเดินแบบนี้มักจะใช้ตอนที่ต้องการผ่อนคลาย ลดภาระที่เกิดกับกล้ามเนื้อขา เพราะใช้ไม้เท้ามาค่อยช่วย
- ท่าเดินแบบมือ2 ข้างไปข้างหน้าก่อนขา (Double pole) เป็นลักษณะมือ 2 ข้างไปข้างหน้าพร้อมๆกัน เพื่อจะใช้แรงจากไม้เท้าช่วยยันตัว เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายให้มั่นคง โดยใช้ไม้เท้า 2 ข้างช่วย ท่าเดินแบบนี้มักจะใช้ตอนขึ้น หรือลงเขาที่ชันมากๆ
ท่าเดินแบบขากับมือสลับข้างกัน (คนขวา) และ ท่าเดินแบบขากับมือข้างเดียวกันไปพร้อมกัน (คนซ้าย)
ท่าเดินแบบ 2 มือไปข้างหน้าก่อนขา
ท่าเดินที่เป็นธรรมชาติมากที่สุดคือ ท่าเดินที่เราเดินแล้วรู้สึกสบายที่สุด ให้แกว่งแขนเสมือนหนึ่งไม่มีไม้เท้าอยู่ในมือการวางปลายไม้เท้าตอนเดินจะไม่วางด้านหน้าตรงๆ แต่จะวางให้ปลายไม้เท้าหันไปทางด้านหลัง จุดที่ปลายไม้เท้าสัมผัสพื้นจะเยื้องไปทางด้า้นหลัง การปักไม้ในลักษณะนี้ นอกจากจะช่วยพยุงตัวไม่ให้เราเราล้มหงายหลังแล้ว ยังช่วยออกแรงส่งตัวเองไปข้างหน้าได้อีกด้วย
ข้อสังเกตุประการหนึ่งคือ ไม้เท้าเดินป่าในปัจจุบันหลายๆรุ่น มักจะทำด้ามจับให้ยาวลงมากว่าปกติ เพื่อประโยชน์ในกรณีที่ต้องการลดระยะจับลงมาให้ต่ำลง เพื่อเพิ่มความมั่นคงที่มากขึ้น เช่นตอนเดินขึ้นเขาที่ชันเป็นต้น
เทคนิคอีกอย่างที่มืออาชีพชอบใช้กันเวลาลงเขาก็คือ การเปลี่ยนตำแหน่งการวางมือ ให้ไปวางด้านบน เพื่อลดความล้าที่เกิดขึ้นกับมือ
เทคนิคการใช้ไม้เท้าเดินป่า ในสภาวะอื่นๆ
นอกจากการเดินในพื้นราบ ขึ้นเนิน ลงเขา แล้ว ในระหว่างทางเราก็มีโอกาสจะพบกับสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติต่างๆ เช่น ลำธาร ขอนไม้ล้ม การใช้ไม้เท้าเดินป่าก็จะช่วยในการพยุงตัว ให้ร่างกายเกิดความสมดุลในการเดินข้ามสิ่งกีดขวาง ลักษณะการเดินมีเทคนิคดังนี้
- ข้ามลำธารหรือแม่น้ำ ซึ่งเป็นการเดินที่ต้องต่อสู้กับความแรงของน้ำ และความลื่นของพื้น ไม้เท้าเดินป่าจะช่วยในการรักษาสมดุล ลักษณะการเดินที่ดีคือ พยายามให้มีจุดสัมผัสพื้น 3 จุด ก็คือ เท้า 1 ข้าง ไม้เท้า 2 อัน จะสัมผัสพื้นไว้ ในขณะที่เราก้าวขาอีกข้างไปข้างหน้า โดยต้องมั่นใจว่าไม้เท้าที่สัมผัสพื้นมีความมั่นคงในระดับนึงก่อนจึงค่อยก้าวเท้าออกไป ในกรณีที่น้ำลึกมากให้ยืดความยาวไม้เท้าเผื่อไว้ ถ้าเป็นจุดที่มองไม่เห็นระดับความลึกก็ให้ลองเอาไม้เท้าหยั่งดูระดับความลึกก่อนก้าว
- แอ่งน้ำ เราสามารถเดินข้ามไปได้ โดยใช้ไม้เท้าเดินป่าในการรักษาระดับความสมดุล หรือใช้ไม้เท้า 2 ข้าง ปักเป็นไม้ค้ำในลักษณะค้ำถ่อแล้วกระโดดข้ามไป
- ก้อนหินขนาดใหญ่ ในกรณีที่ต้องเดินข้ามหินขนาดใหญ่ เราสามารถใช้ไม้เท้าเดินป่าปักลงกับพื้น เพื่อยันตัวเองให้ขึ้นไปยืนบนก้อนหินได้
- ท่อนไม้ การก้าวข้ามขอนไม้ให้ใช้ไม้เท้าสัมผัสพื้นเพื่อรักษาความสมดุลในการก้าว ถ้าคุณต้องเดินไปบนขอนไม้เพื่อข้ามทางน้ำ เราสามารถใช้ไม้เท้ายื่นออกไปด้านข้าง 2 ข้างเพื่อปรับสมดุลระหว่างเดินได้ ลองนึกภาพนักไต่ลวดกายกรรมที่ถือไม้ยาว เพื่อรักษาสมดุลดูนะครับ
การข้ามน้้ำแบบนี้ ไม้เท้าเดินป่า ช่วยได้มากนะครับ
การข้ามแอ่งน้ำ โดยใช้ไม้เท้าค้ำ 2 ข้างแล้วกระโดดข้าม
การดูแลรักษา
ส่วนสุดท้ายที่จะพูดถึงก็คือ การทำความสะอาดและบำรุงรักษา เนื่องจากปัญหาที่พบบ่อยในไม้เท้าเดินป่า ก็คือ ระหว่างที่ใช้อยู่ ตัวไม้เท้าเกิดการรูดลง ซึ่งมักจะมีสาเหตุจากความสกปรกที่เกิดจากดินหรือฝุ่นเข้าไปอยู่ในระบบล็อคท่อนของไม้เท้า การบำรุงรักษาอย่างง่ายๆ ก็คือการทำความสะอาด ซึ่งจะช่วยให้ไม้เท้าเดินป่าของเราทำงานได้ดี และมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น แนวทางทั่วไปในการทำความสะอาดไม้เท้าเดินป่าก็คือ
- การถอดชิ้นส่วนไม้เท้าออกมา ในแต่ละท่อน
- ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดในส่วนของไม้เท้า และระบบล็อค เพื่อกำจัดเศษฝุ่นและดิน
- ใช้ผ้าแห้งที่อ่อนนุ่ม เช็ดด้านในและด้านนอก รวมถึงระบบล็อค ถ้าจำเป็นก็สามารถใช้แปรงถูเพื่อทำความสะอาดเศษดินหรือฝุ่นที่ผ้าเช็ดไม่เออก ข้อควรระวังคือห้ามใช้พวกเจลหล่อลื่น หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์กับส่วนที่เป็นระบบล็อค เพราะอาจะเกิดการกัดกร่อนได้
- ตรวจสอบระบบล็อค ว่ามีชิ้นส่วนที่เกิดความเสียหายหรือไม่ และเปลี่ยนถ้าจำเป็น
- ปล่อยให้ไม้เท้าแห้งเองตามธรรมชาติ ก่อนจะประกอบกลับเข้าไป
ฝากไว้ก่อนจบครับ
จากที่ผมร่ายยาวมา 2 ตอน ยาวจนผมเองก็คิดไม่ถึงว่าจะเขียนได้ยาวขนาดนี้ ผมก็เชื่อเหลือเกินความทุกท่านคงได้เห็นมุมมองของไม้เท้าเดินป่าในหลายๆด้าน ทั้งส่วนประกอบ ประโยชน์ และวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามความรู้จากการอ่านจะไม่เกิดประโยชน์เท่าไหร่นักถ้าขาดการฝึกฝน และการฝึกฝนที่ดีที่สุดก็คือการออกสนามจริง ดังนั้น … ทุกท่านครับ คว้าไม้เท้าเดินป่าคู่ใจ แล้วก็ออกไปท่องโลกกันเถิด
ย้ำกันอีกครั้งนะครับ … อุปกรณ์ที่ดีต้องมาพร้อมกับความ ความรู้ที่ดีด้วย แล้วพบกันบนเทรล ขอบคุณครับ
พีท