ไปเดินป่า อากาศเย็นมาก ควรเตรียมอะไรไปบ้าง?

สวัสดีครับทีมงานของร้านพีทแอนด์พอลขอนำเสนอเช็คลิสต์ของและอุปกรณ์ที่ควรเอาติดตัวไปด้วยสำหรับการเดินป่าในสภาพอากาศเย็น (-10 ถึง 15 องศา) พวกเรารวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ตั้งแต่ช่วงที่ได้ไปฝึกวิชาการใช้ชีวิตในป่าสมัยเป็นนักเรียนนอกและจากการลองผิดลองถูกระหว่างเดินทางผจญภัยไปในหลายที่ๆหลังจากนั้น เช็คลิสต์นี้เหมาะกับคนที่จะเดินป่าหรือเดินทางกลางแจ้งบนยอดดอยสูงของไทยช่วงหน้าหนาว เน้นว่าต้องช่วงเย็นจัดจริงๆนะครับ หรือ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง ของประเทศในเขตที่มีอากาศเย็น (แต่ถ้าให้ตรงตามหลักภูมิศาสตร์เป๊ะจะเรียกว่าเขตอบอุ่น หรือ temperate climate) สถานที่ที่น่าจะคุ้นกับนักเดินทางชาวไทยก็เช่น เกาะฮอนชู ฮอกไกโด ของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ สก็อตแลนด์ จีนตอนเหนือ นิวซีแลนด์ พาทาโกเนีย (ชิลี อาเจนตินา) แคนาดา ไอซ์แลนด์ ทาสมาเนีย (ออสเตรเลีย) เป็นต้น หลายท่านอาจจะเคยไปเยือนที่เหล่านี้ในฐานะนักท่องเที่ยวแบบที่เที่ยวไปตามเมือง นั่งรถจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง นอนโรงแรม โฮสเท็ล หรือ บีแอนด์บี เดินเที่ยวเล่นบ้าง ช็อปปิ้ง กินกาแฟ ไอติม ดื่มชายามบ่าย (พวกเราเรียกการเดินทางอย่างนี้ว่าแบบอยู่ในอารยะธรรม in civilization และเรียกการกลับจากเดินป่า [หมายถึงป่าจริงๆ นะครับ] เข้าเมืองว่ากลับสู่อารยะธรรม – back to civilization) ที่เหล่านี้ส่วนมากจะมีบ้านเมืองสวยงาม สถาปัตยกรรมมีระดับ ศิลปะวัฒนะธรรมสูงส่ง นอกจากนั้นยังมีเส้นทางเดินป่าตามธรรมชาติที่สวยงามมากๆอีกด้วย ถ้าเรามีโอกาสไปสัมผัสที่เหล่านั้นในแบบที่เป็นธรรมชาติจริงๆก็คงจะดีไม่น้อย บางช่วงของปี เช่น ฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีทำให้วิวทิวทัศน์นั้นตื่นตาตื่นใจ ถ่ายรูปสวยมาก บางที่นึกว่าอยู่ในความฝัน

 

hiking_gear

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าที่เหล่านี้จะสวยงามแต่ก็มีสภาพลมฟ้าอากาศที่ผิดประหลาดไปจากเมืองไทยของเราเหลือเกิน วันๆหนึ่งอุณหภูมิแตกต่างกันได้อย่างมาก เดี๋ยวฝนตก แดดออก หมอกลง หิมะโปรยสับสนอลหม่านไปหมด กลางวันอากาศดีพอตกเย็นหน่อยอุณหภูมิลดต่ำลงกว่าจุดเยือกแข็ง เป็นต้น ดังนั้นการไปเดินป่าในที่เหล่านี้ต้องเตรียมเสื้อผ้า อุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง จะได้มีช่วงเวลาดีๆกับธรรมชาติที่สวยงามครับ เรามาดูกันนะครับว่าสิ่งต่างๆที่เราควรจะมีระหว่างเดินป่าในที่ที่มีอากาศเย็นนั้นมีอะไรบ้าง

 

เสื้อผ้า

  1. หมวกไหมพรมแบบคลุมปิดมาถึงหูได้ 1 อัน
  2. หมวกกันฝน แนะนำเป็นทรงแบบมีปีก (sombrero) 1 อัน
  3. ผ้าบัฟ (buff) สาระพัดประโยชน์ เช่น เอาไว้ปิดคอกันหนาว ปิดปากและจมูกกันฝุ่น 1 ผืน
  4. เสื้อแจ็กเก็ตแบบกันฝน ระบายอากาศได้ เป็นผ้าแบบ breathable เช่น Gore-Tex (อย่าใช้ผ้าฝ้าย) 1 ตัว
  5. เสื้อแจ็กเก็ตแบบกันลม ระบายอากาศได้ (อย่าใช้ผ้าฝ้าย) 1 ตัว
  6. เสื้อกันหนาวแบบ fleece ผ้าเป็นขนสัตว์ หรือ ไม่ก็ใยสังเคราะห์ 1 ตัว
  7. เสื้อแขนยาว ผ้าเป็นขนสัตว์ หรือ ไม่ก็ใยสังเคราะห์ 2 ตัว
  8. เสื้อใส่ชั้นใน (top-base layer) ผ้าเป็นขนสัตว์ หรือ ไม่ก็ใยสังเคราะห์ 2 ตัว (เก็บตัวนึงเป็นตัวสะอาดเอาไว้ใส่เวลานอน)
  9. กางเกงใน เป็นผ้าใยสังเคราะห์แบบแห้งไว เช่น ผ้า spandex  2 ตัว
  10. กางเกงใส่ชั้นใน (bottom-base layer) ผ้าเป็นขนสัตว์ หรือ ไม่ก็ใยสังเคราะห์ 2 ตัว (เก็บตัวนึงเป็นตัวสะอาดเอาไว้ใส่เวลานอน)
  11. กางเกงเดินป่า แบบขายาวที่ถอดปลายขาออกกลายเป็นกางเกงขาสั้นได้ก็สะดวกดีครับ (อย่าใช้ผ้าฝ้ายนะครับ) 1 ตัว เผื่อไปอีกตัวนึงก็ได้ครับเอาไว้เป็นตัวสะอาดเปลี่ยนใส่ขณะมาถึงที่พักแล้วจะได้รู้สึกชีวิตดีหน่อย
  12. กางเกงกันน้ำ (rain shell) 1 ตัว เดี๋ยวนี้มีขายแบบพับเก็บใส่ซองแล้วเหลือประมาณกระป๋องน้ำอัดลมก็มีครับ
  13. ผ้าเช็ดตัวแบบแห้งไว 1 ผืน ถ้าไม่ถึงขั้นต้องลดน้ำหนักสุดๆ ก็ให้พันพอรอบตัวได้นะครับจะได้ไม่เขิน 555
  14. เข็มขัดเอาต์ดอร์ 1 เส้น
  15. ถุงเท้าเป็นขนสัตว์ (อย่าใช้ผ้าฝ้ายนะครับ) 3 คู่
  16. ถุงเท้าใส่ชั้นในแบบบาง (sock liners) กันรองเท้ากัดได้ดีครับ 1 คู่
  17. รองเท้าเดินป่า กันน้ำ ระบายอากาศได้ และหุ้มข้อเท้า 1 คู่

     

ba535919dcce4c938f6ee4686f156453

อุปกรณ์

  1. เป้เดินป่าความจุ 60-80 ลิตร 1 ใบ
  2. ผ้าคลุมกันฝนสำหรับเป้ 1 อัน (เลือกขนาดตามเป้)
  3. เต็นท์น้ำหนักเบา 1 หลัง (รวมผ้าปูพื้นสำหรับเต็นท์ ตัวเต็นท์ ผ้าคลุมกันฝน)
  4. ผ้าปูพื้น สำหรับนั่งทำอาหาร หรือ วางของ
  5. เชือกหนา 5-6 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3 เมตร ใช้สาระพัดประโยชน์ เช่น ไว้ผูกเป็นราวตากผ้าหรือแทนเชือกรองเท้าที่ขาด
  6. ถุงนอนสำหรับความเย็น 0-7 องศาเซลเซียส
  7. มีดเดินป่า
  8. ถุงนอนชั้นใน (sleeping bag liner) 1 อัน ใส่นอนทำให้อุ่นขึ้นและทำให้ถุงนอนไม่สกปรกเร็วเกินไป
  9. ถุงมือหนา 1 คู่ (อย่าใช้ผ้าฝ้าย)
  10. แผ่นรองนอนน้ำหนักเบามีค่า R มากกว่า 3 ขึ้นไป 1 อัน
  11. เข็มทิศแบบมีกระจกเงา 1 อัน กระจกเงาเอาไว้สะท้อนแสงขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินหรือเอาไว้มองเวลาโกนหนวดเคราก็ได้ครับ
  12. แผนที่ครอบคลุมพื้นที่ที่เดินทาง
  13. ใบอนุญาตเดินป่าสำหรับที่นั้น ใบลงทะเบียน (สอบถามกับเจ้าหน้าที่หรือที่ทำการอุทยาน)
  14. เครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (personal locator beacon) เดินป่าในบางที่จะบังคับให้คนใดคนหนึ่งในกลุ่มต้องพกติดตัวตลอดเวลา
  15. นกหวีด 1 อัน
  16. ไฟแช็ก หรือ magnesium fire starter 1 อัน
  17. แว่นสายตา คอนแท็คเลนส์ (ถ้าสายตาผิดปกติมากควรมีสำรองไว้อีกชุดหนึ่ง)
  18. แว่นกันแดด 1 อัน
  19. ครีมกันแดด SPF 40 ขึ้นไป
  20. ไฟฉายแบบคาดหัว 1 อัน
  21. ชุดอาบน้ำและของใช้ส่วนตัว (ผู้ชายอย่าลืมมีดโกนหนวดนะครับ)
  22. กรรไกรตัดเล็บ 1 อัน
  23. เครื่องกรองน้ำแบบพกพา 1 อัน
  24. กระป๋องน้ำขนาด 1 ลิตร 1 อัน
  25. ถุงดื่มน้ำแบบมีสายดูดความจุ 2-3 ลิตร แบบสอดใส่ในเป้โดยสายดูดโผล่ออกมาได้ 1 อัน
  26. ไม้เท้าเดินป่า (trekking poles) 1 คู่
  27. หัวเตาสนาม 1 อัน
  28. แก็สกระป๋อง (ปริมาณขึ้นอยู่กับจำนวนวัน)
  29. ยาที่จำเป็น
  30. เข็มกับด้ายไว้เย็บเสื้อผ้าที่ขาดหรือกระดุมหลุด
  31. ผ้าห่มฉุกเฉิน (emergency blanket)
  32. ชุดเครื่องครัวสนามประกอบด้วย หม้อ แก้วน้ำ ช้อนส้อม (น้ำหนักเบา) 1 ชุด
  33. ถ่านไฟฉาย เผื่อสำรองไว้ด้วย 2 ก้อน
  34. รองเท้าแตะแบบสวม 1 คู่
  35. พลั่วสนามน้ำหนักเบาแบบพับเก็บได้สำหรับขุดหลุมทำธุระส่วนตัว 1 อัน
  36. เทปกาว (duct tape) อุปกรณ์สาระพัดประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง ใช้ปะกางเกงขาด เต็นท์ขาด แผ่นรองนอนรั่ว เป็นต้น ปกติผมติดเทปกาวแบบนี้ไประหว่างเดินทางโดยพันเอาไว้รอบๆกระป๋องน้ำหรือขวดน้ำที่พกไปอยู่แล้ว
  37. ถุงพลาสติกสำหรับใส่เสื้อผ้าใช้แล้วและขยะ 3-4 ใบ
  38. กล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์เสริม 1 ชุด
  39. กล้อง GoPro และอุปกรณ์เสริม 1 ชุด 

     

equipment

 

เช็คลิสต์อุปกรณ์นี้ควรจะเพียงพอสำหรับการเดินทางแบบคนเดียว ข้าวของทั้งหมดรวมอาหารใส่ในเป้สำหรับ 4-7 วันควรจะหนักราวๆ 15-17 กิโลกรัม แต่ถ้ามีเพื่อนร่วมทางไปด้วยเราสามารถแชร์บางอย่างด้วยกันได้เช่น เต็นท์ ผ้าปูพื้น เตาสนาม อาหาร เป็นต้น น้ำหนักเฉลี่ยต่อเป้ก็จะลดลงไปได้อีก ลองเอาลิสต์นี้ไปใช้ดูนะครับ อาจจะเอาเป็นสารตั้งต้นพื้นฐานว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง แล้วก็เพิ่มลดเอาตามสถานการณ์และความต้องการส่วนบุคคลเป็นกรณีๆไปครับ

 

บทส่งท้าย

ฝากเป็นข้อคิดสำหรับท่านผู้อ่านบทความนี้แต่ยังไม่เคยเดินป่าหรือเดินทางกลางแจ้งนะครับว่าการเดินป่านั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่หลายท่านอาจคิด ถ้าเรามีอุปกรณ์ที่เหมาะสม ของใช้จำเป็นครบ มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และทัศนะคติที่ดี เราก็สามารถเดินป่าชื่นชมภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำที่แสนจะรื่นรมย์ได้อย่างปลอดภัย จะเป็นประสบการณ์อีกแบบที่ยากจะลืมเลือนครับ

 

ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันมา พบกันในบทความหน้าหรือไม่ก็บน trail ครับ

พอล