จากบันทึกความทรงจำ
เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีเหตุต้องไปทำงานที่ฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา ได้ขับรถตระเวนไปทั่ว มีโอกาสเฉียดๆไปแถวเมืองไมอามี่ ขณะที่กินข้าวเย็นมื้อหนึ่ง ก็ได้คุยกับพนักงานเสิร์ฟในร้าน ได้ความว่าแกมาจากคิวบา พี่คนนี้คุยสนุก และเล่าให้ผมฟังว่า “ยูรู้มั้ยว่า เช เกวาร่า เคยทำงานเป็นคนล้างจานที่ร้านอาหารนี้” (ขอตั้งสมมติฐานไว้ก่อนนะครับ ว่าผู้อ่านรู้จัก เช เกวาร่า) พอได้ฟังผมก็แปลกใจ ถามกลับไปว่าที่นี่เลยเหรอ เค้าก็บอกว่า ร้านเก่าถูกทุบทิ้งไปแล้ว ร้านปัจจุบันสร้างขึ้นมาใหม่ ในบริเวณเดียวกัน แกเลยอุปโลกว่าเป็นที่เดียวกัน
ผมไม่แน่ใจว่าพี่คิวบาคนนั้น โม้รึเปล่า แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญของเรื่อง ที่ผมอยากจะเล่า ให้ผู้อ่านที่รัก ของร้านพีทแอนด์พอล ทราบก็คือ ที่ว่า เช เคยทำงานป็นคนล้างจานที่ไมอามี่นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และเรื่องนี้จะว่าไป เกี่ยวพันกับชีวิตช่วงหนึ่งผมอย่างมาก ตอนนั้นหากย้อนเวลาไป ขณะนั้นผมอายุย่าง 21 ปี เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย และนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ผมตัดสินใจออกเดินทางท่องโลก การตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้ผมจากบ้านเกิดเมืองนอน ต้องพเนจรไปในต่างแดนเป็นเวลานับสิบปี ชะตาวาสนานำพาให้ผม ได้พบกับผู้คนมากมาย ในโลกเบี้ยวใบนี้ และการไปอยู่ต่างแดนนั้น หล่อหลอมให้ผมเป็นตัวผมในปัจจุบัน อย่างไม่ต้องสงสัย (จะนำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อๆ ไปครับ)
มีเพื่อนๆ หลายคนถามผมว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจ ให้ผมตัดสินใจออกเดินทางครั้งนั้น คำตอบของผมคือ หนังสือเล่มหนึ่งครับ มีชื่อว่า The Motorcycle Diaries (แปลเป็นภาษาไทยเชยๆ ว่า บันทึกมอเตอร์ไซค์) ดังนั้นผมจะขอโอกาส เล่าเรื่องราวให้ท่านผู้อ่านที่รักฟังโดยย่อนะครับ และจะได้ทราบว่า ไปเกี่ยวกับสิ่งที่ผมไปเจอ ที่ฟลอริด้าได้อย่างไร หนังสือหรือบันทึกที่ว่า เขียนด้วยนักศึกษาแพทย์หนุ่มคนหนึ่ง ชื่อ เออเนสโต้ เกวาร่า เค้าเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเอง ในวัย 23 ปี ขณะท่องเที่ยวไปในละตินอเมริกา กับเพื่อนรุ่นพี่ คือ อัลแบร์โต้ กรานาโด้ ทั้งคู่เดินทางในช่วงเวลาปิดเทอมปีสุดท้าย ขณะเรียนที่มหาวิทยาลัยบัวเอโนสแอเรส ตามแผนคือเออเนสโต้กับอัลแบร์โต้ จะขี่มอเตอร์ไซค์นอร์ตัน ขนาด 500 ซีซี รุ่นคลาสสิก ซึ่งทั้งคู่เรียกกันเล่นๆ ว่า ลา โพเดอโรซ่า (แปลว่า เจ้าจอมพลัง) จากใต้สุดไปเหนือสุด ของทวีปอเมริกาใต้ กล่าวคือ จากอาร์เจนติน่า ผ่านชิลี เปรู โคลัมเบีย และ เวเนซูเอล่า ก่อนจะย้อนกลับบ้าน เส้นทางนี้มีระยะทางกว่า 14,000 กม โดยกะว่าใช้เวลาสำหรับเดินทางทั้งหมด 4 เดือน
เพื่อนทั้งสองออกเดินทาง จากกรุงบัวเอโนสแอเรส ท่องเที่ยวไปกับเจ้ามอเตอร์ไซค์จอมพลัง ไปตามถนนลาดยางบ้าง ลูกรังบ้าง ผ่านภูมิประเทศที่สวยงาม ของพาทาโกเนีย มุ่งหน้าไปยังชิลี ความเยาว์วัยและมั่นใจ ทำให้ทั้งคู่เป็นนักเดินทาง ที่ไม่กลัวใคร หรืออะไรเลย ค่ำไหนก็นอนนั่น บางคืนก็กางเต้นท์ บางคืนก็อาศัยนอนบ้าน หรือตามโรงนา เงินที่มีติดตัวก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก แต่ก็ต้องเอาตัวรอดไปให้ได้
เมื่อข้ามชายแดนชิลี ทั้งคู่ก็ไปประกาศ (โม้) ตัวว่า พวกตนเองนั้น เป็นหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อนจากอาร์เจนติน่า กำลังเดินทางไปทั่วละตินอเมริกา เพื่อเก็บข้อมูลทำวิจัยเกี่ยวกับโรคอันร้ายแรงนั้น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง (หลง) เชื่อ จึงทำข่าวเป็นคอลัมน์สัมภาษณ์ให้ พวกเค้าได้อาศัยบทความ ที่ตัดจากหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น เพื่อตีเนียนไปขอข้าวชาวบ้านกิน ซึ่งก็ได้ผลดีพอใช้ แต่หลังๆ มุก นี้มักจะใช้ไม่ได้ เพราะสารรูปที่เดินทางพเนจรมาเป็นแรมเดือน และไม่ได้อาบน้ำโกนหนวด ทีละหลายๆ วันนั้น ไม่เข้ากับลักษณะของหมอนักวิจัย ผู้ทรงภูมิเอาเสียเลย ด้วยเหตุนั้นเออเนสโต้และอัลแบร์โต้ จึงต้องเลี้ยงชีพ ด้วยการทำงานระหว่างทางไปด้วย พวกเค้าเป็นคนเดินโต๊ะตามงานเลี้ยง รับจ้างเก็บผลไม้ในสวน และรับตรวจวินิจฉัยโรคเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแลกกับอาหารเย็น ซึ่งหากวันไหนโชคดี ก็มีมื้อเช้าของวันถัดไปแถมมาให้ด้วย
การเดินทางไม่ได้ราบรื่น และโปรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่ว่าเต็มไปด้วยอุปสรรคนานับประการ เกิดอุบัติเหตุรถล้มหลายครั้ง และเจ็บตัวหลายหน มอเตอร์ไซค์เจ้าจอมพลังนั้น ก็เสียเป็นประจำ และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ เออเนสโต้ มีโรคประจำตัว คือ หอบหืด (ซึ่งเค้าเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ) และเกิดอาการกำเริบอย่างรุนแรงหลายหน ระหว่างทาง แต่ละครั้งป่วยไม่ได้สติ ต้องแก้ไขด้วยการฉีดยาอะดรีนาลีน ก็ได้อาศัยเพื่อน คืออัลแบร์โต้ช่วยพยาบาลรักษาชีวิตไว้ได้อย่างหวุดหวิด
การเดินทางประสบทั้งความสุข เช่นเจอเพื่อนใหม่ ได้ไปชมสถานที่สวยงาม หากแต่ในยามเดียวกัน ก็พานพบกับความทุกข์ คละเคล้ากันไป เออเนสโต้ถูกแฟนสาวบอกเลิก กลางทางอย่างขมขื่น เหตุเพราะการเดินทางไกล และนานเช่นนั้น ทำให้เหินห่างกัน และแฟนรับความโดดเดี่ยว และอ้างว้างไม่ได้
มีครั้งหนึ่ง พวกเค้าเอารถไปซ่อมที่อู่ ในหมู่บ้านอันห่างไกล พอลูกจ้างในอู่ทราบว่า เค้าเป็น(นักเรียน)หมอ ก็ขอให้ไปช่วยตรวจอาการของแม่ ซึ่งนอนป่วยอยู่ที่บ้าน เออเนสโต้ตรวจอยู่ไม่นาน ก็ทราบว่าหญิงชรานั้นเป็นมะเร็ง อาการลุกลามมากแล้ว และคงอยู่ได้อีกไม่นาน โรงพยาบาลก็อยู่แสนไกล ขนาดเงินค่ารถไปโรงพยาบาลยังมีไม่พอ ค่ารักษานั้นลืมไปได้เลย ด้วยความสงสาร แต่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไรได้ เค้าเลยเอายาแก้ปวด ที่ติดตัวมาด้วย ให้กับหญิงชราไปหมด ใบหน้าที่เต็มไปด้วยริ้วรอย จากความชราของเธอยิ้มตอบอย่างดีใจ สำหรับเออเนสโต้แล้วเค้ารู้ดีว่า ยากระปุกนั้นไม่ได้ช่วยให้หญิงชรา รอดพ้นจากความตาย ที่คืบคลานใกล้เข้ามาทุกทีได้เลย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนนั้นบีบคั้นมาก ถึงขนาดที่เออเนสโต้ต้องเสียน้ำตา เป็นน้ำตาลูกผู้ชายที่หลั่งให้กับความทุกข์ยาก และความอับจนหนทาง ของชิวิตอันบอบบางชีวิตหนึ่ง ที่กำลังจะดับสิ้นลง
เมื่อเดินทางมาได้ราวครึ่งทาง (ชายแดนชิลี-เปรู) “มอเตอร์ไซค์เจ้าจอมพลัง” ที่อาการกระเสาะกระแสะมาตลอด ก็ถึงคราวสิ้นอายุขัย ทั้งคู่ต้องตัดใจจอดทิ้งเอาไว้ ด้วยความอาลัย และจากกันครั้งนั้น จะไม่มีวันได้พบหน้ามอเตอร์ไซค์ อันเป็นที่รักอีก แม้รถพังไปแล้วแต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป พวกเค้าเดินบ้าง โบกรถและเกวียนชาวบ้านบ้าง ผ่านทะเลทรายอาตากาม่า ที่แห้งแล้งและทุรกันดาร ที่ซึ่งร้อยวันพันปีจะมีฝนตกสักทีหนึ่ง ระหว่างทางนั้นเอง ทั้งคู่ได้พบและร่วมเดินทาง กับแรงงานอพยพ ชาวพื้นเมืองอินคาที่ยากจน คนงานเดินเท้า เพื่อมุ่งหน้าไปทำงานตามเหมืองทองแดงและเหมืองเงิน ที่มีอยู่มากมายในยุคนั้น แรงงานเหล่านี้ เดินทางมานานนับสัปดาห์ เพื่อมารอที่จุดนัดพบ หลายคนมากันเป็นครอบครัว เมื่อเวลามาถึงนายหน้าก็ปรากฏตัวขึ้น เลือกเอาคนที่ดูแข็งแรงต้อนขึ้นรถบรรทุกเพื่อไปทำงาน ราวกับฝูงสัตว์ คนที่ดูอ่อนแอ (ผู้หญิงและเด็ก) ถูกทิ้งไว้อย่างไม่แยแส เออเนสโต้นั้น เกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลาง และเติบโตขึ้นในเมือง เค้ามองภาพที่ไม่เคยเห็นเหล่านั้น อย่างไม่เชื่อสายตา เค้าไปโวยวายกับพวกนายหน้า แต่ก็ถูกชกคว่ำอย่างไม่เป็นท่า ครั้งนั้นเออเนสโต้ ได้สัมผัสถึงความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำ ที่กัดกินสังคมละตินอเมริกาอย่างรุนแรง ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก ใครก็ตามหากแคร์ที่จะมองดูสักนิด จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทรัพยากรธรรมชาติ ถูกสูบออกไปจากแผ่นดินแม่ เพื่อเพิ่มมั่งคั่งให้กับนายทุนจำนวนน้อยนิด อย่างบ้าคลั่ง แม้ชาวพื้นเมือง จะถูกข่มเหงน้ำใจถึงเพียงนั้น แต่คนเหล่านั้นไม่มีทางเลือก ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมโดยหวังว่า เงินทอง (อันน้อยนิด) ที่ได้มา จะทำให้ชีวิตของคนในครอบครัวดีขึ้นได้ อันที่จริงบรรพบุรุษของชาวเผ่าพื้นเมือง เป็นเจ้าของที่ดิน ในดินแดนอันกว้างใหญ่ ของละตินอเมริกามาก่อน แต่ต่อมาถูกนักล่าอาณานิคมชาวสเปน ยึดมาเป็นของตน และสถาปนาระบบทาสที่ดินขึ้น ชาวพื้นเมืองก็ถูกกดขี่เป็นทาส ด้วยระบบนั้นเป็นหนแรก แม้ต่อมา ระบอบอาณานิคมล่มสลาย แต่ก็ถูกแทนที่ ด้วยระบบทุนอุตสาหกรรม ชาวพื้นเมือง (ซึ่งตอนนี้ ก็ต้องนับได้ว่าเป็นลูกเป็นหลานของชุดแรกแล้ว) ก็ถูกผลักดันให้เข้าเป็นแรงงาน ในระบบทุนอุตสาหกรรมที่ว่า และถูกกดขี่ (อย่างไม่มีทางจะลืมตาอ้าปากได้) เป็นหนที่สอง
ในที่สุดเออเนสโต้และอัลแบร์โต้ ก็เดินทางไปถึงกรุงลิม่า เมืองหลวงของเปรู หกเดือนหลังจากที่ออกเดินทาง เรียกได้ว่าช้ากว่าแผนที่วางไว้แต่เดิมอย่างไม่มีชิ้นดี หลังจากทำตามความฝัน คือ ไปชมโบราณสถานอินคา คือ มาชูพิชู ด้วยตาตนเองแล้ว ทั้งคู่อาศัยเรือโดยสาร ล่องไปตามแม่น้ำอูคายาลี ซึ่งเป็นลำน้้ำสาขาของแม่น้ำอเมซอน มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแพทย์ฝึกหัด ในนิคมโรคเรื้อน ชื่อ ซาน ปาโบล (San Pablo หรือ นักบุญพอล) ที่ตั้งอยู่กลางป่าลึก ในสมัยนั้นโรคเรื้อน ถือกันว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอย่างยิ่ง จึงต้องเนรเทศคนที่ติดเชื้อให้ออกไปให้ไกลจากชุมชน
นิคมโรคเรื้อน ซาน ปาโบล ถูกแบ่งครึ่งด้วยแม่น้ำซึ่งกว้างมากๆ แยกฝั่งคนไม่ป่วย (หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ แม่ชี) ออกจากฝั่งคนป่วย จะข้ามไปมาหากันได้ ก็ด้วยเรือข้ามฟาก ซึ่งจะวิ่งเฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น ตอนกลางคืนฝั่งคนป่วย จึงเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เออเนสโต้ทำงานด้วยความตั้งอกตั้งใจ และเนื่องจากเค้าเป็นคนไม่ถือตัว จึงเป็นที่รักของคนป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกที ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และความผูกพันธ์ระหว่างผู้มีโอกาส (คือตัวเค้า) กับผู้ด้อยโอกาส (คนป่วยโรคเรื้อน) ค่อยๆ ทวีเพิ่มขึ้นในตัวเค้า เพื่อนทั้งสองทำงานที่นิคมได้ราวหนึ่งเดือน ก็ครบกำหนดต้องออกเดินทางต่อไป คืนสุดท้าย มีการเลี้ยงส่งกันอย่างครึกครื้นที่ฝั่งคนปกติ เออเนสโต้เหม่อมอง ไปยังอีกฝั่งของนิคม เห็นแสงไฟริบหรี่เงียบเหงา เค้ารู้สึกสลดใจ ที่คนป่วยซึ่งอยู่ฝั่งโน้นไม่มีโอกาสมาสนุกด้วย ว่าแล้วเค้าก็กระโดดลงไปในแม่น้ำ จากนั้นก็ออกว่ายด้วยความเด็ดเดี่ยว ทุกคนที่เห็นนึกว่าเค้าต้องจมน้ำตายแน่ เพราะมืดก็มืด และอีกฝั่งก็อยู่ห่างออกไป ไกลเหลือเกิน แต่ในที่สุดเออเนสโต้ ก็ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำไปได้ และได้ใช้เวลาและล่ำลา เหล่าผู้ป่วยที่เค้ารู้สึกผูกพันธ์มาก ในคืนสุดท้ายตามความตั้งใจ
และแล้วเวลาที่ต้องออกเดินทางต่อ ก็มาถึง ทั้งคู่ล่องไปตามแม่น้ำอเมซอน ด้วยแพไม้ที่พวกเค้าต่อกันขึ้นมาเอง และไปขึ้นฝั่งในประเทศโคลอมเบีย จากนั้นก็โบกรถบ้าง เดินบ้าง ไปตลอดทาง
ในที่สุด บทจบของการผจญภัย ระยะทางกว่า 14,000 กม ก็มาถึง เออเนสโต้และอัลแบร์โต้ เดินทางมาถึงกรุงคารากัส ของเวเนซูเอล่า ช่วงปลายเดือนเดือนกรกฎาคม 1952 แล้วก็ถึงเวลา ที่พวกเค้าต้องแยกจากกัน อัลแบร์โต้ตัดสินใจ ทำงานที่สถาบันโรคเรื้ิอนของเวเนซูเอล่า ในขณะที่เออเนสโต้ มุ่งหน้ากลับบ้าน เพื่อไปเรียนเทอมสุดท้ายให้จบ ตอนกลับ เออเนสโต้อาศัยเครื่องบินบรรทุกสินค้า (อันที่จริงเป็นเครื่องบินบรรทุก ม้าแข่ง) ที่มุ่งหน้ากลับอาเจนติน่า อย่างไรก็ตาม เครื่องต้องไปแวะรับ และส่งม้าที่ไมอามี่ ในฟลอริด้าก่อน ตามแผนแล้วใช้เวลา 1-2 วันก็น่าจะถึงบ้าน แต่เมื่อไปถึงไมอามี่ ปรากฏว่าเครื่องบินขัดข้อง
ตอนแรกนึกว่า เสียนิดหน่อย ใช้เวลาซ่อมไม่กี่ชั่วโมง แต่สุดท้ายต้องรออะไหล่เพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วนเครื่องยนต์ จากที่คิดว่าต้องรอไม่กี่ชั่วโมง กลายเป็นหลายสัปดาห์ เมื่อต้องติดอยู่ที่นั้นเป็นเวลานาน เออเนสโต้จึงออกไปทำงานล้างจาน ทำครัว กวาดพื้นในร้านอาหาร เพื่อเป็นการเลี้ยงชีพ เค้าทำงานอยู่ราว 3-4 สัปดาห์ เครื่องบินก็ซ่อมเสร็จ และก็ได้เดินทางกลับบ้านในที่สุด
บทสุดท้ายของบันทึก The Motorcycle Diaries ก็จบลงที่ตรงนี้
นี่เป็นที่มาของเรื่องบังเอิญ ซึ่งผมได้ไปพบเจอ ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในไมอามี่ เป็นเหตุการณ์ในบทสุดท้ายของ The Motorcycle Diaries ซึ่งบันทึกการเดินทางในละตินอเมริกาของเออเนสโต้ เกวาร่า กับ อัลแบร์โต้ กรานาโด้
สิ่งนี้ทำให้ผมหวลระลึก ต่อไปได้ว่า บันทึก หรือ หนังสือเล่มเดียวกันนี้ ก็เป็นแรงบันดาลใจและจะว่าไป ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางไกลในชีวิตของผมเช่นกัน
หากใครศึกษาประวัติของเออเนสโต้ จะทราบดีว่า เมื่อจากกัน ที่กรุงคารากัสครั้งนั้น เพื่อนทั้งสองจะไม่ได้พบกันถึง 8 ปี ในช่วงเวลานั้น เออเนสโต้ เข้าร่วมกับกองกำลังปฏิวัติคิวบา ของฟิเดล คาสโตร และโค่นล้มอำนาจของ ประธานาธิบดี ฟูเกลซิโอ บาติสต้า ทีอเมริกาหนุนหลังได้สำเร็จ เมื่อเพื่อนสองคน ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง เอเนสโต้ ได้กลายเป็น เช เกวาร่า ผู้กุมอำนาจลำดับที่ 2 ของรัฐบาลปฏิวัติ (เช เป็นคำที่ชาวละตินอเมริกาใช้เรียกคนที่มาจากอาร์เจนติน่าเล่นๆ เพื่อล้อลักษณะการพูดค่าว่า “เอ่อ” ของคนชาวนั้น ซึ่งจะติดพูดว่า เช) เช ได้ชวนอัลแบร์โต้ให้ย้ายมาช่วยงานที่คิวบา สหายผู้พี่ตอบรับคำ และอพยพพาครอบครัวมา อัลแบร์โต้ก็มาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาน่า ตั้งแต่นั้น
เมื่อครั้งแรกที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมรู้สึกสนุกกับเรื่องราวการผจญภัย ความโรแมนติกของการเดินทาง และชีวิตพเนจรที่ท่องเที่ยวไปในดินแดนที่ไม่รู้จัก (จะว่าไปก็เป็นธรรมดา ตามประสาเด็กหนุ่มวัย 20 ปี) จนเกิดแรงบันดาลใจ และตัดสินใจที่จะทำเช่นนั้นบ้าง แต่เมื่อได้กลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีก ในวัย 30 กว่าปี ผมสัมผัสได้ถึงอีกมุมมองหนึ่ง ผมเห็นความเปลี่ยนแปลง ของความคิดและอุดมคติ ของชายหนุ่มที่ชื่อ เออเนสโต้ ซึ่งออกเดินทาง เพื่อค้นหาตัวเอง เมื่อเกือบ 70 ปี ก่อน จากความสนุกกับการท่องเที่ยว และการพบเจอสิ่งใหม่ๆ เมื่อเริ่มเดินทาง กลายมาเป็นความเห็นอกเห็นใจผู้คนที่ทุกข์ยาก ผู้ที่ถูกรังแกไร้ทางสู้ ความชิงชัง ที่เออเนสโต้มีต่อความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นสรณะของชีวิตคนมากมาย นับไม่ถ้วนในแผ่นดินเกิดเพิ่มทวีขึ้น ไฟบางอย่างกำลังก่อตัวขึ้นทีละน้อย ในจิตใจของเออเนสโต้ และไฟที่ลุกโชนนี้ จะผลักให้เค้าลุกขึ้นสู้ กับความอยุติธรรม ซึ่งส่งผลส่งอย่างใหญ่หลวง ไม่ใช่เฉพาะกับเส้นทางชีวิตของ เออเนสโต้ หรือ เช เพียงคนเดียวเท่านั้น หากแต่ว่ากับชีวิต ของผู้คนอีกมากมาย ที่โชคชะตาจะได้ดลบันดาล ให้มาพบพาน หรือได้ยินเรื่องราวของเค้าในภายหลัง
ณะที่เดินทางอยู่ในเปรู เออเนสโต้ พรรณนาความรู้สึกของตนเอง ด้วยการเขียนลงในบันทึก ผมเห็นว่าเป็นประโยค ที่แสดงความเป็นตัวตน ของเออเนสโต้ หรือ เช ได้อย่างเด่นชัด จึงขออนุญาตคัดลอก มาให้ผู้อ่านที่รัก ไว้พิจารณา
ประโยคนั้นมีความว่า
“Con los pobres de la tierra, quiero yo mi suerte echar.”
แปลจากภาษาสเปน เป็นอังกฤษว่า With the poor people of this earth, I want to share my faith. ขอไม่แปลเป็นไทยนะครับ เพราะความสามารถของผม น่าจะยังไม่ถึงที่จะแปลให้กลมกล่อม อย่างเช่นต้นฉบับได้
านผู้อ่านล่ะครับ ช่วงนี้ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวบ้างรึเปล่า ถ้ายังก็หาโอกาสไปบ้างนะครับ ไม่แน่นะ การเดินทางครั้งใหม่นี้ อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง กับชีวิตของคุณ เหมือนที่ครั้งหนึ่งเกิดกับ เอเนสโต้ (เช) เกวาร่า หรือแม้แต่ผู้ชายธรรมดาๆ เช่นผม ก็เป็นได้
Keep travelling นะครับ
พอล
ปล. ได้มีการนำหนังสือ The Motorcycle Diaries มาทำเป็นหนัง โดยใช้ชื่อเดียวกัน ในปี 2004 (ใครสนใจ แต่มีเวลาน้อย ไม่พอที่จะอ่านหนังสื