เป้แบ็คแพ็ค เลือกและจัดยังไงดี?

สวัสดีครับ คงเคยมีเพื่อนๆหลายคนสงสัยว่าเวลาเราไปเดินป่านั้นควรจะจัดเป้อย่างไรให้สะดวกคล่องตัว หยิบของเข้าออกง่ายและกระจายน้ำหนักได้ดี เป้ที่จัดได้ดีนั้นจะทำให้ให้เราทรงตัวและเดินได้อย่างมั่นคงแม้ว่าต้องแบบน้ำหนักเพิ่มถึง 15-20 กิโลกรัมก็ตาม หากคุณผู้อ่านเป็นมือใหม่สำหรับการเดินป่าแบบแบกสัมภาระทุกอย่างเอง ผมขอแนะนำให้หาเป้เดินป่าดีๆสักใบมาไว้ใช้นะครับ เป้เดินป่าที่ดีต้องมีความจุเหมาะสมกับการใช้งานและมีขนาดพอดีกับตัวของเรา เป้รุ่นหนึ่งๆจะทำมาหลายขนาดและแยกระหว่างชายกับหญิง ทั้งนี้เพราะสรีระทั่วไปของผู้หญิงกับชายนั้นต่างกัน นอกจากนั้นเป้ต้องสามารถถ่ายน้ำหนักมาที่ตำแหน่งของร่างกายที่เหมาะสมได้ มีความทนทาน มีช่องใส่ของต่างๆที่ทำให้จัดของและหยิบออกมาใช้ได้ง่ายและที่สำคัญคือต้องมีน้ำหนักเบา

เรามาดูกันนะครับว่าส่วนประกอบที่สำคัญของเป้เดินป่ามีอะไรบ้างhow-to-choose-a-backpack

text2543_100

  1. เฟรมของเป้ จะมีสองแบบครับคือแบบซ่อนอยู่ข้างใน (internal frame) หรือแบบเห็นอยู่ข้างนอก (external frame)
  2. สายสะพายบ่า (shoulder straps) ต้องมีขนาดกว้างและเสริมให้หนาเพื่อถ่ายน้ำหนักลงมาที่บ่า สายต้องปรับความยาวได้ ส่วนบนของตัวชุดสายสะพายบ่า (harness) สามารถปรับขึ้นหรือลงให้พอดีกับความยาวหลังได้
  3. สายปรับน้ำหนักที่บ่า (load lifters) อันนี้เอาไว้ปรับว่าจะให้ศูนย์ถ่วงของเป้อยู่ชิดกับตัวของเราขนาดไหน
  4. สายรัดหน้าอก (chest หรือ sternum strap) ปรับความยาวได้ อุปกรณ์ส่วนนี้จะติดอยู่กับสายสะพายบ่า และปรับเลื่อนขึ้นหรือลงได้
  5. สายคาดเอว (hip belt) ใช้สำหรับถ่ายน้ำหนักจากเป้ไปเอว ควรมีความหนาและกว้างเพื่อให้น้ำหนักกระจายตัวได้อย่างสม่ำเสมอ ปรับความยาวได้
  6. แผ่นรองหลัง (back panel) โดยส่วนซึ่งติดกับหลังควรจะเป็นตาข่ายระบายอากาศได้ดีและแผ่นควรจะโค้งรับกับหลังของเรา
  7. สายรัดด้านข้าง (compression straps)
  8. ช่องด้านล่างสำหรับใส่ถุงนอน (sleeping bag compartment)
  9. ช่องไว้ใส่ถุงดูดน้ำ (hydration pack) แบบมีสายดูดโผล่ออกมาด้านข้างได้ จะเป็นซองอยู่ในเป้โดยชิดติดกับแผ่นหลังของเป้
  10. ช่องใส่ของที่ตำแหน่งต่างๆ เช่น ด้านบน ด้านหน้า และด้านข้าง

เป้เดินป่ามีหลายขนาดความจุ ตั้งแต่ 40-80 ลิตร เราเลือกขนาดเป้ตามปริมาณเสื้อผ้า อุปกรณ์ และอาหารที่ต้องเอาติดตัวไป โดยปกติปริมาณแปรผันกับความยาวของทริปและลักษณะการเดินทาง เช่น มีลูกหาบช่วยแบกของมั้ย ต้องทำอาหารทานเองหรือไม่ นอนเต็นท์ หรือมีบ้านพักระหว่างทาง และอีกอย่างหนึ่งคือเราเป็นคนเยอะมั้ย (ใช้เครื่องสำอางค์เยอะ ของกินเล่นต้องครบถ้วน เป็นต้น)

วิธีการเลือกขนาดเป้ง่ายๆก็โดยเอาของทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการเดินทางใส่เข้าไปในถุงขยะดำใบใหญ่ๆ รัดถุงให้แน่นจากนั้นก็คิดปริมาตรคร่าวๆของถุงที่มีของอัดอยู่ข้างในนั้นมีปริมาตรเท่าไหร่

ปริมาตร = กว้าง x ยาว x สูง

แล้วก็ไปเลือกปริมาตรเป้ให้พอดี ถ้าเป็นเป้ยี่ห้อมีระดับหน่อยจะมีให้เลือกหลายขนาดสำหรับปริมาตรความจุหนึ่งนะครับ เช่น ขนาด S สำหรับความจุ 65 ลิตร หรือ ขนาด L สำหรับความจุ 65 ลิตร เป็นต้น

การเลือกขนาดของเป้ให้เหมาะสมกับสรีระนั้นจะเลือกให้พอดีกับ 1) ความยาวส่วนลำตัวของเรา ค่านี้ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า torso length ดูในรูปด้านล่างนะครับ และ 2) ความยาวรอบลำตัวส่วนที่สายคาดเอวจะไปวางอยู่ (hip measurement)

GregorySizingModified

เวลาจะวัดความยาวส่วนลำตัวควรมีคนช่วยนะครับจะได้ถูกต้องแม่นยำหน่อย วิธีการคือเรายืนหันหลัง ให้ผู้ช่วยใช้สายวัดความยาววัดตั้งแต่ต้นคอชิดแนบไปตามแผ่นหลังจนมาถึงส่วนเชิงพัก (bench) ของสะโพก สำหรับผู้ชายหุ่นมาตรฐานส่วนนี้จะอยู่สูงกว่าระดับบริเวณขอบกางเกงที่ใส่ สำหรับผู้หญิงจะอยู่ต่ำกว่าเอวแต่สูงกว่าส่วนกว้างสุดของสะโพก ถ้าพูดเป็นภาษาเทคนิคคือวัดจากกระดูกสันหลังชิ้นที่ C7 ลงมาจนถึง ขอบบนของกระดูกเชิงกรานหรือ iliac crest ครับ ต่อมาก็วัดความยาวรอบลำตัวของร่างกายที่บริเวณดังกล่าว

เมื่อได้ torso length กับ hip measurement แล้วก็ไปเลือกขนาดเป้ที่พอดีกับตัวเรา (ดูจากตารางข้างบนครับ) เป้ที่ดีจะสามารถปรับตำแหน่งของชุดสะพายบ่า (harness) ขึ้นลงได้ให้พอดีกับ torso length ของเราได้เป๊ะเลยครับ

1_howtopack_wtext_FULL

เมื่อได้เป้ที่มีขนาดและความจุที่เหมาะสมกับทริปมาแล้วเราก็มารู้จักกับวิธีจัดของใส่เป้ให้มีประสิทธิภาพกันนะครับ มีข้อแนะนำตามนี้ครับ

  • หลักการสำคัญคือเราจะให้น้ำหนักส่วนใหญ่ของเป้คือราว 70 % ถ่ายลงมาที่เอวและขาที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรง โดยที่เหลือประมาณ 30% ให้ถ่ายลงที่บ่า เพราะถ้าบ่ารับน้ำหนักต่อเนื่องและมากไปจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่หลังได้ครับ

loading_a_rucksack

  • จะถ่ายน้ำหนักในลักษณะที่กล่าวได้เราต้องให้จุดศูนย์ถ่วงน้ำหนักของเป้อยู่ใกล้ชิดกับหลังและที่ระดับความสูงประมาณกลางหลังช่วงที่กว้างสุด (ดูรูปด้านบนครับ) แนะนำให้ทำตามต่อไปนี้ครับ

weight balance

  • ของที่มีน้ำหนักปานกลางและต้องหยิบใช้บ่อยๆ เช่น ไฟฉาย แว่นกันแดด เสื้อกับกางเกงกันฝน พาสปอร์ต กระเป๋าเงิน กล้องถ่ายรูปเล็กๆ ให้เอาไว้ที่ส่วนบนหรือฝา (lid) ของเป้ (ส่วนที่ 1 ตามรูป)
  • เอาของหนักๆใส่ไว้บริเวณที่ชิดกับหลังที่ระดับความสูงประมาณกลางหลังช่วงที่กว้างสุด (ส่วนนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า shoulder blade) ของที่หนักๆก็ได้แก่ อาหาร ข้าวสาร เตาสนาม ชุดอุปกรณ์ครัว กล้องถ่ายรูปตัวใหญ่ ถุงดูดน้ำสำหรับนักเดินป่า (ส่วนที่ 2 ตามรูป)
  • ของที่เบา เช่นเสื้อไหมพรม กางเกงใส่นอน ผ้าเช็ดตัว ชุดยา เครื่องอาบน้ำ ให้เอาไว้ส่วนด้านนอกสุดของเป้ (ส่วนที่ 3 ตามรูป)
  • เอาของที่เบาที่สุด เช่นถุงนอน เสื้อยืดใช้แล้ว ไว้ที่ด้านล่างของเป้ ควรเลือกเป้ที่มีซิปเปิดเป็นช่องสำหรับใส่ถุงนอนเพื่อหยิบของบริเวณนี้ได้ง่าย จะได้ไม่ต้องรื้อทุกอย่างออกมาเพื่อจะหยิบของที่อยู่ด้านล่างของเป้ครับ (ส่วนที่ 4 ตามรูป)
  • เมื่อเอาของใส่ลงในเป้แล้วรัดสายด้านบนและด้านข้างของกระเป๋าให้กระชับ
  • ของใช้อื่นๆเช่น กระป๋องน้ำ ไม้เท้าเดินป่า ครีมกันแดด ยาทากันแมลง ของกินเล่นระหว่างทาง ก็ใส่ไว้ตามช่องด้านข้างของกระเป๋า

ถ้าจัดได้ประมาณนี้ก็ต้องถือว่าเป็นเป้ที่ถ่วงน้ำหนักดีและช่วยให้เดินได้อย่างมั่นคงนะครับ ต่อมาลองมาดูวิธีฟิตเป้ที่มีของอยู่เต็มแล้วกับตัวเรากันครับ

  1. เอาเป้ขึ้นสะพายหลัง
  2. ดันเป้ขึ้นเล็กน้อยแล้วคาดสายรัดเอว ปรับสายให้กระชับโดยให้ลองใช้นิ้วเสียบระหว่างสายรัดกับเอวแล้วต้องรู้สึกแน่นๆ
  3. ดึงสายปรับความยาวของสายสะพายบ่าให้ชิดเข้ามาที่บริเวณอกและไหล่
  4. ดึงสายรัดหน้าอกซึ่งจะทำให้สายสะพายบ่าขยับเข้ามาชิดกับอกและไหล่มากขึ้น ปรับให้กระชับ อย่าแน่นมากเกินไปนะครับ ไม่งั้นน้ำหนักจะลงบ่ามากไปจะเจ็บในที่สุด อีกอย่างที่ลืมไม่ได้คือน้ำหนักราว 70% ของเป้ควรจะไปลงที่เอว สายสะพายบ่าจะทำหน้าที่หลักคือรั้งไว้ไม่ให้เป้พลิกหงายหลังไปนอกเหนือจากรับน้ำหนักในแนวดิ่งบางส่วนของเป้
  5. ดึงสายปรับน้ำหนักที่บ่า เป้จะขยับเข้ามาชิดที่หลังและเราจะรู้สึกน้ำหนักของเป้เริ่มถ่ายลงมาที่เอวและแรงรั้ง (ไปข้างหลัง)จากเป้ที่บริเวณไหล่ลดลง ปรับให้กระชับ

เท่านี้ก็โอเค คนกับเป้คู่ใจก็พร้อมออกเดินทางครับ

บทส่งท้าย

เป้ที่ดี มีขนาดเหมาะสม และของภายในที่จัดให้มีการถ่วงน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การเดินของเรานั้นมั่นคงมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตามส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความสามารถของร่างกายเราเอง เป้นั้นจะต้องไม่หนักจนเกินไป เราควรหาโอกาสออกกำลังอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนขาและสะโพก นอกจากนั้นยังควรออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอที่บริหารระบบหายใจและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายควบคู่ไปด้วย จะได้แข็งแรงเดินป่าอย่างสนุก ไม่บาดเจ็บ ชื่นชมธรรมชาติที่แสนจะรื่นรมย์ได้ เป็นประสบการณ์ดีๆกับตัวเราเองครับ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันมา พบกันในบทความหน้าหรือไม่ก็บน trail ครับ

พอล