ว่าด้วย เรื่องของการก่อไฟ

กุมภาพันธ์ 8, 2021 เทคนิคการเดินทาง

ทำไมเราถึงควรจะก่อไฟเป็น ?

เรามักจะพบว่านักเดินทางยุคหลังๆ มักจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับการก่อกองไฟเท่าไหร่นัก สาเหตุคงเป็นเพราะว่า เรามีอุปกรณ์ที่ดีขึ้น เราสามารถทำอาหาร ต้มน้ำ ได้โดยใช้เตาแค้มปิ้งกับเชื้อเพลิงกระป๋อง เราสามารถสร้างความอบอุ่นโดยใช้ถุงนอนแทนความร้อนจากกองไฟได้ และปัจจุบันอุทยานหลายๆ แห่งก็มักจะห้ามก่อกองไฟ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากความไม่รับผิดชอบของนักเดินทาง  นี่ยังไม่รวมถึงการเอาไม้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงก็เหมือนกับเป็นการแย่งสารอาหารของพื้นดินที่เกิดจากการย่อยสลายของไม้ตามธรรมชาติไปด้วย 

ลองนึกภาพนักเดินทางทุกคนก่อไฟดูสิครับ เวลาเราเดินเข้าบริเวณกางเต๊นท์แล้ว เจอแต่ต้นไม้โล่งๆ ที่ถูกหักกิ่ง ออกไปหมด หรือมองไปแล้วเห็นไม้เหลือแต่ตอ เพราะถูกตัดไปทำฟืนหมด แล้วจะเข้าใจว่าทำไมเราไม่ควรจะก่อไฟโดยไม่จำเป็น

นั่นแหละครับที่ทำให้การก่อกองไฟเป็นสิ่งที่ค่อยๆเลือนหายไปเรื่อย … เพราะมันไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำนั่นเอง

ในหลักปฏิบัติของนักเดินป่า 7 ประการ ที่เรียกว่า Leave No Trace นั้นก็มีข้อที่ 5 ที่ว่าด้วยเรื่องของการลดผลกระทบที่เกิดจากการก่อไฟให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดอยู่ด้วย  (Minimize Campfire Impacts) เพราะฉะนั้นการก่อกองไฟจึงไม่ควรก่อพร่ำเพรื่อ แต่ให้ก่อเฉพาะในยามที่จำเป็นครับ

อย่างไรก็ตามการก่อกองไฟเป็นทักษะหนึ่งที่นักเดินทางควรต้องเรียนรู้ไว้ เผื่อใช้ในยามจำเป็น เช่น กรณีหลงป่า แล้วเชื้อเพลิงแก๊สที่พกไปหมด เราอาจจะจำเป็นต้องก่อไฟเพื่อสร้างความอบอุ่น หรือต้มน้ำดื่ม เป็นต้น นี่ยังไม่นับรวมเหตุผลด้วยภาพลักษณ์ ที่ครั้งนึงผู้เขียนเคยไปนอนหลบพายุอยู่ในกระท่อมกลางเทรลในต่างประเทศ ในกระท่อมมีการแบ่งงานกันทำ แล้วผู้เขียนได้รับคำขอจากนักเดินทางชาวต่างชาติให้ช่วยรับหน้าที่ก่อไฟที่เตาผิงให้หน่อย แน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนั้นถ้าจุดไฟไม่เป็นนี่คงเป็นการเสื่อมเสียหน้าเป็นอย่างมากครับ … ก็ด้วยเหตุนี้แหละครับ ทำให้เราควรที่จะมีทักษะในการก่อไฟติดตัวไว้บ้าง 

ไฟเกิดจากอะไร ?

ก่อนที่ผมจะแนะนำว่าเราจะก่อกองไฟได้อย่างไรนั้น อยากให้เข้าใจกันก่อนว่าไฟเกิดขึ้นมาได้จากอะไร ถ้าเรารู้จุดนี้แล้ว เราจะเข้าใจว่า การก่อกองไฟที่ดีนั้นมันจะมีลักษณะอย่างไรครับ

เพื่ออธิบายถึงองค์ประกอบของการเกิดไฟ ขอแนะนำให้รู้จักกับ Triangle of Fire หรือ สามเหลี่ยมแห่งไฟ  ในสามเหลี่ยมนี้ ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า มันประกอบไปด้วย ออกซิเจน ความร้อน และเชื้อเพลิง ถ้าดูรูปก็จะเห็นว่า แต่ละแท่งมันค้ำยันกันอยู่ ซึ่งไฟจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป เรามาดูกันทีละตัวครับ

ความร้อน (Heat)

ในธรรมชาตินั้นมี เชื้อเพลิง และออกซิเจนอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีความร้อนไฟก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ความร้อนเกิดจากอะไร ?  ตัวอย่างก็เช่น ไฟแช็ค ชุดจุดไฟ ไม้ชีด หรือแม้แต่แว่นขยายที่รวมแสงก่อให้เกิดความร้อน
จำไว้ว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะหายไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าออกซิเจนและเชื้อเพลิงไม่สมดุลกัน เช่น เราใส่เชื้อเพลิงมากเกินไป มีความชื้นสูง และมีออกซิเจนน้อยเกินไป 

ออกซิเจน (Oxygen)

ถ้าหากไฟจุดติดแล้ว แต่มีออกซิเจนน้อยเกินไป ไฟก็จะดับลงอย่างรวดเร็ว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการก่อกองไฟที่ดีถึงต้องมีช่องให้ออกซิเจนผ่านเข้าไปที่ไฟได้ เมื่อไฟได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ ไฟก็จะใหญ่ขึ้นและแรงขึ้น
ในการก่อกองไฟนั้น การสุมไม้จำนวนมากลงไปทับบนกองไฟแทนที่จะทำให้ไฟแรงขึ้น กลับเป็นมอดดับไปก็ด้วยเหตุนี้แหละครับ เพราะว่ามันทำให้ออกซิเจนเข้าไม่ถึงไฟนั่นเอง

เชื้อเพลิง (Fuel)

เชื้อเพลิงเป็นสิ่งที่ซับซ้อนกว่า เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องปรับปริมาณให้เข้ากับออกซิเจนและความร้อนด้วย
การเลือกเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับไฟจึงมีความสำคัญมาก นึกภาพง่ายๆ ว่าถ้าเราจุดไฟแล้วเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ไปวางบนไฟ เราก็จะพบว่าไฟจะจุดไม่ติด เพราะเราใส่เชื้อเพลิงที่ไม่เหมาะกับความร้อนที่เกิดลงไป แต่ถ้ากลับกันเราเอาไม้จิ้มฟันไปวางบนไฟเดียวกัน ไฟจะจุดติดขึ้นมาได้อย่างง่ายดายเลยครับ และเจ้าไม้จิ้มฟันที่จุดติดไฟไปแล้วนั้นจะทำให้ไฟมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้เราสามารถที่จะใส่เชื้อเพลิงที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมลงไปได้ โดยการเพิ่มขนาดไฟ และใส่เชื้อเพลิงที่ใหญ่ขึ้นลงไปเรื่อยๆ นั่นแหละครับ กองไฟก็จะเกิดขึ้นได้

การเลือกเชื้อเพลิง

การเลือกเชื้อเพลิงที่จะใช้ในการก่อกองไฟนั้นจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตามขนาดของเชื้อเพลิง แบ่งง่ายเป็นแบบ เล็ก กลาง ใหญ่ เนื่องจากผมไม่ทราบว่าภาษาไทยในวงการเดินป่าเข้าใช้คำว่าอะไรกัน เลยขอใช้ทับเป็นภาษาอังกฤษไปละกันครับ

Tinder

Tinder เป็นพวกวัสดุที่จุดติดไฟง่าย ขนาดเล็กหน้าที่คือจะทำให้ไฟมีขนาดใหญ่ขึ้น วัสดุพวกนี้ก็เช่น กิ่งไม้ขนาดเล็ก เปลือกไม้บางประเภทที่จุดติดไฟได้ง่าย พวกหญ้าแห้ง เป็นต้น

วัสดุของ Tinder ควรจะเป็นไม้ขนาดเล็กประมาณขนาดท่อนไม่หนา หนาแค่ประมาณไม้จิ้มฟัน สิ่งสำคัญคือต้องหามาให้เพียงพอที่ทำให้ไฟใหญ่ขึ้นได้ เพราะยิ่ง Tinder จุดติดไฟมากขึ้น เราก็จะใส่เชื้อเพลิงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ด้วย ปกติก็จะใช้พวกเศษไม้แห้ง จากพื้นหรือตามต้นไม้ที่ตายแล้ว

Kindling

Kindling เป็นวัสดุเชื้อเพลิงขนาดกลางในการก่อกอง โดยขนาดของเชื้อเพลิงตัวนี้จะมีความหนากว่า Tinder ไปจนถึงขนาดประมาณความหนาเท่านิ้วโป้ง

แน่นอนว่าไม้ที่เอามาใช้ต้องแห้งให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ถ้าหักเอามาจากต้นไม้ที่ยังไม่ตาย ไม้มันจะมีความชื้นอยู่ทำให้เผาไหม้ได้ไม่ดีนัก

Fuel

เป็นเชื้อเพลิงก่อไฟขนาดใหญ่ จำพวกไม้ที่มีขนาดท่อนใหญ่กว่านิ้วโป้งขึ้นไป เชื้อเพลิงประเภทนี้จะช่วยให้ไฟอยู่ได้นาน ให้ความอบอุ่นได้มากที่สุด

ข้อแนะนำเพิ่มเติมในการหาเชื้อเพลิง

  • เราคงไม่อยากจะวิ่งหาเชื้อเพลิงแบบเร่งด่วน เพราะฉะนั้นให้รวบรวมเชื้อเพลิงมาให้มากเพียงพอตั้งแต่ก่อนก่อไฟ

  • เลือกไม้ที่แห้งตายแล้ว อาจจะร่วงอยู่ตามพื้น หรือตายติดอยู่บนกิ่งก็ได้ แต่โดยทั่วไปพวกไม้ที่ร่วงอยู่แล้วติดกับพื้นดินจะแห้งน้อยกว่า เพราะตัวไม้ได้รับความชื้นจากพื้นดิน

  • สามารถทดสอบความแห้งของไม้ได้โดยลองหักดู ถ้างอแล้วหักได้ง่าย ก็แสดงว่าแห้งแล้ว แต่ถ้าเรางอแล้วไม้ไม่หัก แสดงว่าไม้ยังเขียว มีความชื้นอยู่ อย่างนั้นก็ไม่เหมาะจะเอามาทำเชื้อเพลิง

  • ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยงไม้ท่อนใหญ่ๆ เนื่องจากมีผลการศึกษาว่า ใบไม้ กิ่งไม้ใหญ่ หรือลำต้น จะย่อยสลายเป็นไนโตรเจนและคาร์บอนให้กับพื้นดิน ในขณะที่ไม้ท่อนเล็ก จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของดินน้อยกว่า

การก่อกองไฟ

เมื่อได้เชื้อเพลิงที่จำเป็นเตรียมไว้แล้ว ขั้นต่อมาก็คือเตรียมการก่อกองไฟ … วิธีการก่อกองไฟนั้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่ามันจะเป็นรูปแบบอะไร หลักการก็ยังเหมือนเดิมตามรูปสามเหลี่ยมแห่งไฟที่เล่าให้ฟังไปก่อนหน้านี้ ก็คือต้องมี เชื้อเพลิง ออกซิเจน และความร้อน เพราะฉะนั้นหลักการสร้างกองไฟ ก็คือการพยายามรักษาทั้ง 3 อย่างนี้ไว้ให้มีความสมดุลกันนั่นเองครับ 

กล่าวคือ วิธีการก่อกองไฟ มันคือการเรียงตำแหน่งของเชื้อเพลิงให้โดนไฟไล่ไปตามลำดับ ตั้งแต่ Tinder , kindling และ Fuel โดยที่มีช่องว่างให้อากาศพาออกซิเจนผ่านเข้าไปได้นั่นเอง ซึ่งการก่อกองไฟแต่ละรูปทรงก็จะยึดหลักการนี้ โดยที่อาจจะหวังผลในการใช้งานอื่นตามแต่รูปทรง เช่น เรื่องความสว่างที่เกิดจากไฟ เรื่องระยะเวลาเผาไหม้ของฟืนให้ไฟลุกต่อเนื่องได้นานๆ  ความง่ายในการวางภาชนะประกอบอาหาร เป็นต้น 

ลองมาดูรูปทรงของกองไฟที่เป็นที่นิยมกันดู

ทรงกระโจม (Tipi)

การก่อกองไฟแบบกระโจม เป็นพื้นฐานที่สุดของการก่อไฟเลยก็ว่าได้ การก่อไฟแบบนี้จะใช้การพิงกันของไม้ก่อขึ้นเป็นรูปกระโจมโดยเริ่มจากกองของเชื้อไฟ (Tinder) ก่อน แล้วค่อยซ้อนกิ่งไม้เล็กๆ (kinding) เข้าไปด้านบน แล้วค่อยวางไม้ขนาดใหญ่ (Fuel)  พิงไว้ชั้นนอกอีกที การก่อไฟแบบนี้จะให้ความร้อนและแสงสว่างเท่าๆ กันรอบด้าน ข้อควรระวังคือ อย่าสุมไม้แน่นเกินไปจนอากาศผ่านได้น้อยนะครับ เพราะอาจจะทำให้ไฟดับได้

แบบเคบิน (Log Cabin)

การอก่อกองไฟแบบนี้ จะเริ่มโดยการวางเชื้อไฟ ( Tinder) ไว้ตรงกลาง แล้ววางไม้ท่อนใหญ่ (Fuel) ก่อเป็นชั้นล้อมรอบ สลับแนวกันไปมาสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเลือกได้ให้วางไม้ท่อนใหญ่ไว้ด้านล่างสุด แล้วค่อยๆใช้ไม้ที่เล็กลงเรื่อยๆ เมื่อวางซ้อนกันสูงขึ้น ให้วางเศษไม้ (Kinding) ไว้ด้านบนให้โดนไฟจากการจุดเชื้อไฟ  

อีกแบบหนึ่งก็คือใช้การก่อไฟแบบกระโจมไว้ตรงกลาง แล้วเอาไม้ท่อนใหญ่มาวางล้อมก็ได้ครับ 

การก่อไฟแบบนี้จะ มีจุดเด่นในเรื่องของการถ่ายเทของอากาศ และเป็นการใช้ประโยชน์จากความร้อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากกรอบไม้ล้อมรอบ ทำให้ไฟโดนไม้ได้ทั่วถึงมากกว่า

แบบเพิง (Lean-To)

การก่อไฟแบบนี้จะมีจุดเด่นในเรื่องการกำบังลม โดยจะเริ่มจากการสร้างที่กำบังลมด้วยการใช้ไม้ท่อนใหญ่ท่อนเดียว หรือหลายท่อนวางซ้อนกันเป็นกำบังลม หรืออาจจะไม่ใช่ไม้แต่ใช้หินก้อนใหญ่ๆหน่อยก็ได้ครับ  แล้วก็ก่อกระโจมจากเขื้อไฟ (Tindle) ไว้ใกล้ๆกับกำบังลม แล้วใช้เศษไม้ (Kinding) พิงพาด แล้วพาดไม้ท่อนใหญ่ (Fuel) ไว้ด้านบนอีกที 

แบบดาว

การก่อไฟแบบดาวนี้ เริ่มด้วยการสร้างกองไฟแบบกระโจมเล็กๆไว้ตรงกลาง  แล้ววางไม้ท่อนใหญ่ (Fuel) ล้อมให้เป็นดาวแฉก ซึ่งจะทำให้ไฟค่อยๆลุกไหม้จากด้านในออกมาด้านนอกช้าๆ จะทำให้ไฟอยู่ได้นาน โดยไม่ต้องลุกมาเติมฟืนบ่อยๆ วิธีการก่อไฟแบบนี้จะให้ความสว่างกระจายกว้าง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผมจะนำรูปแบบกองไฟมาให้ดู 4 แบบที่เป็นที่นิยมใช้กัน แต่จริงๆ แล้วรูปทรงของการก่อกองไฟ ก็ไม่ได้ตายตัวนะครับ สามารถปรับได้ตามสถานกาณ์และประโยชน์ใช้สอยอื่นๆตามที่ผู้ก่อไฟต้องการครับ 

เมื่อเราเตรียมการวางเชื้อเพลิงไว้พร้อมแล้ว ก็เหลือแค่การจุดไฟ หรือการใส่ความร้อนเข้าไป จะทำให้ไฟจุดติดได้

ข้อแนะนำอื่นๆ

ข้อแนะนำนี้คือกรณีที่ก่อไฟในป่า หรือบริเวรที่ไม่เคยมีการก่อไฟมาก่อนนะครับ ไม่ได้รวมถึงพวกลานก่อไฟทั่วไปตามลานกางเต็นท์

  •  ก่อไฟเมื่อจำเป็นเท่านั้น และเมื่อใช้เสร็จแล้วก็ให้เหลือร่องรอยให้น้อยที่สุด

  • ถ้ามีพื้นที่ก่อไฟเดิมที่คนอื่นใช้อยู่แล้ว ก็ให้ใช้อันเดิมต่อไป ไม่จำเป็นต้องหาที่ใหม่ เพื่อลดบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากการก่อไฟครับ

  • ในการก่อไฟให้เตรียมน้ำไว้สำหรับดับไฟไว้ด้วย เผื่อในกรณีที่ไฟลามออกด้านนอก

  • หลังจากก่อกองไฟเสร็จแล้ว ถ้ามีเศษไม้เหลือ ให้เอาไปโปรยกระจายให้รอบๆ บริเวณ การทิ้งไม้ไว้ให้ผู้อื่น เราอาจจะมองว่าเป็นความมีน้ำใจ ให้คนที่มาทีหลังมีไม้ใช้  แต่ก็สามารถมองได้อีกมุมว่า เรากำลังสนับสนุนให้มีการก่อไฟอยู่เหมือนกัน

  • การทำความสะอาดกองไฟ เมื่อเสร็จ ให้ราดน้ำลงบนกองไฟให้เรียบร้อย เช็คเถ้าให้ดี ขี้เถ้าที่เย็นแล้วก็ให้โปรยให้รอบบริเวณ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความรู้นี้จะเป็นประโยชน์กับนักเดินทางทุกท่านครับ 

พีท

อ้างอิง

FIRE STARTING 101 – https://blog.ucogear.com/fire-starting-101-the-basics-of-starting-a-fire/

Campfire Construction – How to Build a Fire by Ken Youngquist – https://www.primitiveways.com/Camp_Fire.html

หนังสือ The National Outdoor Leadership School’s Wilderness Guide: The Classic Handbook