เลือกซื้อถุงนอนอย่างไรดี ตอนที่ 1 รู้จักกับถุงนอนกันก่อนซื้อ

สวัสดีเพื่อนๆนักเดินทางทุกท่านครับ วันนี้ผมจะมานำเสนอบทความในการเลือกซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการเดินทางมากที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือ ถุงนอน ถุงนอนเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งทีนักเดินทางแบ็คแพ็คเกอร์ทั้งหลาย จำเป็นต้องมีติดตัว ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า ตั้งแคมป์ หรือเดินทางไปพักตามหมู่บ้าน พักแบบโฮมสเตย์ บางทีนอนตามโรงแรมก็อาจจะพกถุงนอนติดตัวไปด้วยก็ได้ เช่นบางทีไปนอนพักตามโรงแรม แต่ต้องการประหยัดค่าที่พัก แทนที่จะนอน 2 คน ก็นอน 3 คน ก็คือให้คนนึงนอนพื้น แล้วก็ใช้แผ่นรองนอน กับถุงนอนเอา ก็ช่วยประหยัดเงินในการเดินทางได้มากพอสมควร วิธีนี้เหมาะกับนักเดินทางสายประหยัดครับ  ถ้าประหยัดยิ่งกว่าอย่างผมก็มีบ่อยครั้งที่ไปอาศัยนอนตามสนามบินบ้าง ป้ายรถเมย์บ้าง ก็เลือกทำเลดีๆ แล้วก็ห่มถุงนอนนอนมันตรงนั้นแหละ หรือ ตอนนั่งรถแอร์เย็นๆก็เอาถุงนอนมารูดซิปออกแล้วคลี่ออกเป็นผ้าห่มคลุมตัวคลายหนาวได้

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าถุงนอนนี่จัดเป็นอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ที่สามารถนำออกมาใช้ได้ในหลายสถานการณ์จริงๆ และเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว เราจึงควรจะต้องมีความรู้พื้นฐานในการเลือกซื้อกันหน่อย เพื่อให้เงินทุกบาทที่ลงทุนไปคุ้มค่า ได้ของที่เหมาะกับสภาพการณ์ใช้งานจริงๆ เรามาดูกันก่อนว่าถุงนอนทำงานอย่างไร ทำไมมันถึงทำให้เราอุ่นได้

ถุงนอนทำงานอย่างไร ?

เพื่อให้เกิดความเข้าใจในคุณลักษณะของถุงนอนอย่างถูกต้อง ผมขออธิบายการทำงานของถุงนอนก่อนนะครับ

หลายคนเข้าใจว่าถุงนอนเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการสร้างความร้อน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ครับ ตัวถุงนอนเองนั้นไม่ได้เป็นตัวสร้างความร้อนแต่อย่างใด สิ่งที่ทำให้เกิดความร้อนขึ้นคือร่างกายของคนเรานี่แหละครับ โดยธรรมชาติแล้วร่างกายของคนเราจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ราว 36°C  ซึ่งเราจะปล่อยความร้อนออกมาทางผิวหนัง การหายใจ หรือทางอื่นๆ เจ้าความร้อนตัวนี้จะไปทำให้อากาศในส่วนที่สัมผัสกับผิวหนังของเราร้อนขึ้น โดยธรรมชาติเมื่ออากาศมีอุณหภูมิแตกต่างกันก็จะเกิดการไหลเวียนขึ้น โดยอากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้นแล้วอากาศที่เย็นกว่าก็จะไหลเข้ามาแทนที่ ทำให้อากาศเย็นชุดต่อมาไหลมารับความร้อนจากร่างกายเราต่อไป ทำให้เรายังรู้สึกเย็นเหมือนเดิมครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะอุ่นขึ้น เราต้องไม่ให้อากาศเกิดการไหลเวียนได้ หรือให้ไหลเวียนน้อยที่สุด … นั่นละครับหน้าที่ของถุงนอน

ถุงนอนจะใช้หลักการในการเก็บกักอากาศไว้ข้างใน โดนถุงนอนจะทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้นระหว่างอากาศกลุ่มนี้กับอากาศเย็นด้านนอกถุงนอน  ทำให้อากาศไม่เกิดการไหลเวียน อากาศที่อุ่นขึ้นแล้วก็จะอยู่ติดกับร่างกายของเราต่อไป ในขณะเดียวกันร่างกายเราก็ยังคงปล่อยความร้อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยิ่งอยู่ในถุงนอนนานเข้าถุงนอนจะยิ่งอุ่นยิ่งขึ้น เพราะอากาศในถุงนอนจะอุ่นขึ้นเรื่อยๆครับ จนถึงจุดหนึ่งเท่าที่ความสามารถถุงนอนทำหน้าที่ได้ อุณหภูมิก็จะอุ่นคงที่  เราก็จะนอนได้อุ่นสบายยิ่งขึ้น

ผมไปเจอรูปประกอบจาก Website wildernorth.com ซึ่งอธิบายพร้อมรูปประกอบได้ดี เลยขอยกมาแปลเป็นไทย แล้วทำเป็นเหตุการสมมุติกันดูครับ …. คิดซะว่าเราอยู่ในป่า แลตอนนี้เวลา 2 ทุ่มแล้ว ก็คงสมควรแก่เวลาพักผ่อนแล้ว ได้เวลามุดเข้าถุงนอน

หลังจากเข้าไปในถุงนอนแล้ว ช่วงแรกอาจจะรู้สึกเย็นอยู่บ้าง แต่พอผ่านไปซักราว 30 นาที เราจะเริ่มรู้สึกอุ่นขึ้น เนื่องจากอากาศข้างในรับความร้อนจากร่างกายเราไปแล้ว และเพราะอากาศออกไปไหนไม่ได้ อุณหภูมิข้างในก็จะอุ่นขึ้น

หลังจากผ่านไปอีก 30 นาที อุณหภูมิจะอยู่เริ่มอุ่นคงที่แล้ว

เท่านี้เราก็สามารถนอนได้อุ่นสบายตลอด… แต่อย่าลืมนะครับว่าอุณหภูมิข้างนอกมันก็ยังเย็นขึ้นเรื่อยๆ จนไปเย็นสุดที่เกือบๆ เช้า เพราะฉะนั้นอุณหภูมิในถุงนอนก็จะเย็นขึ้นได้บ้างระดับนึง ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมช่วงใกล้สว่างเรามักจะรู้สึกเย็นจนรู้สึกตัวขึ้นมาเอง

ลองมาดูภาพประกอบหลักการทำงานของถูงนอนกัน จะเห็นว่าชั้นยิ่งเยอะยิ่งดี แน่นอนครับว่า ราคาก็จะแพงตามขึ้นไปด้วย

มีถุงนอนหลายแบรนด์ที่พยายามเสริมส่วนพื้นให้มีชั้นมากขึ้น แต่ว่าไม่ว่าจะเสริมยังไงช่องของอากาศก็จะหายไปเนื่องจาก ถูกน้ำหนักตัวของผู้นอนกดทับเวลานอน ทำให้เวลาเรานอนแล้วเรามักจะรู้สึกเย็นหลัง เพราะได้รับความเย็นจากพื้นดินนั่นเองครับ ข้อนี้ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมผมถึงแนะนำว่า การออกไปนอนบนพื้นดิน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีแผ่นรองนอน ไม่ใช่แค่เรื่องนอนนุ่มสบายเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการป้องกันความเย็นนั่นเอง

ส่วนประกอบของถุงนอน

ใจเย็นก่อนครับ อย่าเพิ่งไปถึงการเลือกซื้อถุงนอน ก่อนจะเลือกซื้อเป็น เราต้องรู้จักกับกับส่วนประกอบหลักๆ ของถุงนอนกันก่อนจะดีกว่าครับ เพราะการทำความเข้าใจกับส่วนประกอบของถุงนอนจะช่วยให้เราเข้าใจเทคโนโลยี ส่วนประกอบ คุณสมบัติของถุงนอนแต่ละตัวได้ดียิ่งขึ้น จะทำให้เราอ่านสเปคถุงนอนแล้วรู้จริงๆ ว่ามันดี หรือไม่ดีอย่างไร

หลักๆ แล้วถุงนอนจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่เป็นส่วนหุ้มจะเรียกว่า เชล (Shell)/ไลนิ่ง (Lining) และส่วนที่เป็นวัสดุยัดไส้ด้านในถุงนอนซึ่งจะเรียกว่า ฟิล (Fill) ครับ จริงๆ มีแค่นี้ถุงนอนก็สามารถใช้งานได้แล้ว ที่เหลือจะว่าเป็นส่วนประกอบ ช่วยเพิ่มความสามารถให้ถุงนอนก็ได้ เดี๋ยวเรามาดูกันทีละตัว

ภาพแสดงส่วนประกอบของถุงนอน

  • เชล (Shell) (ผิวถุงนอนด้านนอก) จะเป็นส่วนชั้นนอกของถุงนอน มีหน้าที่กันล และกันความชื้น ถุงนอนที่คุณภาพสูงหน่อยมักใช้เชลที่ทำจากผ้าไนลอน ซึ่งมีน้ำหนักเบา และทนทาน และหากเป็นผ้า Nylon Taffeta หรือ Ripstop nylon ก็จะมีความทนทานมากขึ้นไปอีกเล็กน้อย พวกนี้มักจะออกแบบมาให้กันน้ำได้ระดับนึง และระบายอากาศได้ ถุงนอนบางรุ่นก็เลือกใช้ผ้าพวก Gore-tex ที่มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมสูงมาทำ พวกนี้ราคาก็จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก  ถ้าถุงนอนที่ราคาถูกหน่อยก็มักจะใช้เชลเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ที่มีความคงทนน้อยกว่า Nylon
  • ไลนิ่ง (Lining) (ผิวถุงนอนด้านใน) จะเป็นส่วนที่อยู่ด้านในของถุงนอนด้านที่สัมผัสกับตัวผู้นอน มักจะทำจากผ้าโพลีเอสเตอร์ ซึ่งระบายอากาศได้ และมีความนุ่ม เนื่องจากเป็นส่วนประกอบด้านในซึ่งสัมผัสกับผิวของคนนอน ถุงนอนที่ราคาถูกลงมาก็อาจจะใช้เป็นผ้าฝ้าย ซึ่งมีีคุณสมบัติดูแลรักษาง่าย ระบายอากาศดี และให้ความอุ่นได้ในสภาพอากาศปกติ อย่างไรก็ตาม แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ถุงนอนที่ทำจากผ้าฝ้าย ในสภาพแวดล้อมที่มีความเปียกชื้น เนื่องจากตัวผ้าฝ้ายจะดูดซับความชื้น นอกจากจะแห้งช้ากว่ามากแล้ว ยังทำให้สูญเสียคุณสมบัติข้อสำคัญที่สุดของถุงนอนคือการเก็บความร้อนไปอีกด้วย
  • ฟิล (Fill) จะ ส่วนที่เป็นเส้นใยอยู่ตรงกลางระหว่างเชลกับไลนิ่ง ทำหน้าที่ในการเก็บความร้อนไว้ข้างใน ช่วยให้การถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายของเราตอนนอนน้อยลง ทำให้เรายังคงความอุ่นอยู่ได้ ที่ใช้กันจะมีอยู่ 3 ประเภทหลักๆ คือ ดาวน์ , ใยสังเคราะห์ และ เส้นใยผ้าฝ้าย

ประเภทของฟิล

เนื่องจากฟิลเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากในถุงนอน เรียกว่าเป็นปัจจัยหลักที่ควรต้องพิจารณาในการเลือกซื้อเลย เพราะฉะนั้นผมก็ขอขยายความเรื่องคุณสมบัติของฟิลแต่ละตัวกันหน่อยครับ

ภาพแสดง เส้นใยดาวน์ของเป็ด

  • ดาวน์ (down)วัสดุดาวน์ที่นำมาใช้บรรจุในถุงนอนจะมาจากเส้นใยที่อยู่ใต้ขนของพวกนกน้ำ เช่น เป็ด ห่าน เป็นต้น ดาวน์จะวัดคุณสมบัติว่าดีมากน้อยแค่ไหนกันด้วยค่าที่เรียกว่า Fill Power ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกถึงความพองฟู ค่านี้จะวัดโดยการเอาเส้นใยไปใส่หลอดทดลองที่น้ำหนักที่เท่ากัน แล้วดูว่าเส้นใยไหนที่พองฟูได้มากกว่า ก็จะมีค่า Fill Power ที่มากกว่า หลังจากนั้นก็จะวัดปริมาตรของขนที่พองฟูออกมาเป็นหน่วยลูกบาสก์นิ้ว ยิ่งค่า Fill Power มากก็หมายความว่า เส้นใยนั้นพองฟูได้ดี เก็บความอุ่นไว้ข้างในได้มาก ค่า Fill Power นี้จะมีตั้งแต่ค่า 400-800+ข้อดีของดาวน์ก็คือ ดาวน์เป็นวัสดุยัดไส้ถุงนอนที่เบาที่สุด และให้ความอบอุ่นที่สูง หมายความว่าถุงนอน 0 °c ที่เป็นวัสดุดาวน์ จะมีขนาดที่เล็กกว่าและเบากว่าเมื่อเทียบกับถุงนอน 0 c เหมือนกันที่เป็นใยสังเคราะห์ดาวน์เป็นวัสดุที่สามารถบีบอัดได้มาก และมีอายุการใช้งานที่ยาว เพราะคุณสมบัติของดาวน์จะสามารถคืนตัวหลังโดนบีบอัดได้ดีกว่า และจะเสื่อมลงช้ากว่าถุงนอนวัสดุใยสังเคราะห์ที่จะค่อยๆ สูญเสียความพองฟูไปเรื่อยๆ ดาวน์จะสามารถบีบอัดได้มีขนาดเล็กกว่า
  • ใยสังเคราะห์ (Synthetic Fill)วัสดุใยสังเคราะห์ มักจะทำจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ใยสังเคราะห์ที่คุณภาพสูงจะพยายามออกแบบมาให้ใกล้เคียงกับลักษณะของดาวน์ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีอะไรเทียบน้ำหนักกับความอุ่นของดาวน์ได้นะครับข้อดีของถุงนอนใยสังเคราะห์คือ ราคาถูกกว่า , ใยสังเคราะห์ไม่มีปัญหาอาการแพ้ ในขณะที่ดาวน์ บางคนนอนแล้วแพ้ผื่นขึ้นก็มี นอกจากนั้น ใยสังเคราะห์ยังสามารถรักษาความอุ่นในสภาพอากาศที่เปียกชื้น ด้ดีกว่าดาวน์ที่จะเสียคุณสมบัติในการรักษาความร้อนส่วนใหญ่ไปเมื่อเปียกชื้น
  • เส้นไยฝ้าย (Cotton Fill)การใช้ฝ้ายเป็นฟิลสำหรับบรรจุในถุงนอน มักจะพบในถุงนอนที่ราคาไม่แพงนัก จะเหมาะกับนอนในร่ม หรือใ นรถคาร์แคมป์ที่มีสภาพอากาศแห้ง และไม่หนาวมากนัก จะไม่เหมาะกับการใช้ภายนอกที่อากาศมีความชื้น เนื่องจาก มีน้ำหนักมาก และ ดูดความชื้นได้ไว แต่แห้งช้า และจะสูญเสียคุณสมบัติการเป็นฉนวนถ้าโดนความชื้น

ภาพแสดงความพองฟูของดาวน์ ที่ค่า Fill Power ที่แตกต่างกัน ในแต่ละหลอดที่เห็นน้ำหนักดาวน์เท่ากันนะครับ

ส่วนประกอบอื่นๆ ที่ควรรู้ของถุงนอน

นอกเหนือจากส่วนประกอบหลักๆ อย่าง เชล ไลนิ่ง และ ฟิล แล้ว ถุงนอนยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่เราควรจะรู้จักไว้ตามนี้ครับ

ซิป (Zipper) จริงๆ แล้วถุงนอนที่ดีที่สุด คือถุงนอนที่ไม่ต้องมีซิปครับ เพราะการมีซิปจะทำให้มีโอกาสที่ความร้อนจะสูญเสียออกทางส่วนซิปได้มากกว่า ถุงนอนแบบปิดหมด แต่แน่นอนครับ ถ้าถุงนอนไม่มีซิปจะเข้าออกจากถุงนอนคงยากเย็นมากแน่ๆ

ฮู้ด (Hood) ส่วนคลุมหัว ช่วยในการเก็บความร้อนบริเวณส่วนหัวของร่างกาย บางรุ่นจะหนุนให้สูงเพื่อให้เป็นหมอนไปในตัวด้วย ถุงนอนบางรุ่นที่เน้นน้ำหนักเบาก็อาจจะไม่มีฮู้ดก็ได้ครับ

บาฟเฟิ้ล (Baffles) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของถุงนอน เป็นลักษณะช่องเพื่อแยกส่วนของฟิลออกในแต่ละตำแหน่ง ทำหน้าที่ในการจัดวางตำแหน่งของฟิลข้างในให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่มากองรวมกันที่จุดใดจุดหนึ่ง ช่วยให้ถุงนอนทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น

ฟุตบ็อก (Foot Box)  เป็นส่วนปลายตรงบริเวณเท้าของถุงนอน จะทำงานในลักษณะเดียวกับฮูัด จะต่างกันตรงฮู้ดทำหน้าที่ปกป้องส่วนหัว ในขณะที่ฟุตบ็อกทำหน้าที่ปกป้องส่วนเท้า ถุงนอนที่ออกแบบมาดีส่วนฟุตบ็อก เวลาวางเท้าจะไม่อึดอัด ผู้นอนสามารถวางเท้าในตำแหน่งที่เป็นธรรมชาติได้

ดราฟทิวป์ (Draft Tube) ตามที่เล่าให้ฟังไปก่อนหน้านี้แล้วว่า อากาศอุ่นภายในถุงนอนสามารถที่จะรั่วไหลออกทางรอยต่อซิปได้ ถุงนอนที่ออกแบบมาดีหน่อย ก็จะเพิ่มส่วนของดราฟทิวป์ที่มีลักษณะเป็นท่อที่บรรจุฉนวนไว้ วางคลุมตามแนวซิปอีกที เพื่อป้องกันความร้อนออกตามบริเวณซิป

ดราฟคอลล่า (Draft collar หรือ neck baffles และ face mufflers) เป็นส่วนประกอบที่พักจะพบในถุงนอนที่ใช้ในสภาพอากาศเย็นหน่อย โดยลักษณะจะเป็นท่อบรรจุฉนวนไว้ จะวางในตำแหน่งรอบศรีษะ หรือ บริเวณช่วงคอ เพื่อป้องกันความร้อนออกจากภายในถุงนอน และป้องกันความเย็นจากด้านนอกแทรกตัวเข้ามา

ส่วนประกอบเสริมอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว ก็เช่น

  • ช่องใส่ของ (pocket) เป็นช่องสำหรับใส่ของเล็กน้อย เช่น พวก โทรศัพท์มือถือ กุญแจ กระเป๋าสตางค์ เป็นต้น
  • ช่องใส่หมอน (Pillow Pocket) เป็นช่องสำหรับใส่หมอน เพื่อล็อคหมอนไว้กับถุงนอน เพราะบ่อยครั้งที่เวลาเรานอนหนุนหมอน ไปๆมาๆ หัวเรามักจะตกหมอนประจำ
  • Pad loop อันนี้จะเป็นเหมือนหูเกี่ยวสำหรับร้อยเชือก เพื่อรัดถุงนอนเข้ากับแผ่นรองนอน เพื่อป้องกันคนนอนพลิกหลุดจากแผ่นรองนอน

ส่วนประกอบของถุงนอนที่ควรจะรู้ไว้ ก็มีประมาณนี้ครับ ส่วนอื่นนอกเหนือจากนี้ก็มักจะเป็นลูกเล่นเพิ่มเติมของแต่ละผู้ผลิตเสียมากกว่า  … ความจริงแล้ว ผมตั้งใจจะเขียนตอนเดียวให้จบ เหมือนเช่นทุกครั้ง แต่เขียนไปเขียนมา มันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะถุงนอนมันมีความลึกซึ้งมากพอสมควร ก็เลยขอยกเรื่องของการเลือกซื้อถุงนอน กับการอ่านค่าสเปคถุงนอนไปไว้ตอนหน้าละกันครับ ยังไงก็ติดตามอ่านกันต่อไปได้ แต่เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการเขียนของผมเอง ผมอาจจะยกเรื่องอื่นมาเขียนสลับไปด้วย ยังไงติดตามอ่านกันได้ต่อไปครับ

พีท