ว่าด้วยเรื่องของ Gap Year
ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมขอฉีกแนวการเขียน จากเรื่องเทคนิคการเดินป่า การเลือกซื้ออุปกรณ์ มาเป็นเรื่องแนวปรัชญาชีวิตดูบ้าง เดิมจะเขียนเรื่อง การเลือกซื้อถุงนอนตอน 2 ต่อ แต่ไม่รู้ทำไม มันออกมาเป็นเรื่อง Gap Year ไปเสียได้ ประหนึ่งนักเขียนชื่อดังที่เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาอย่างฉับพลัน ต้องรีบเขียนก่อนแรงบันดาลใจจะหดหายไป กลับถึงบ้านตอน 3 ทุ่ม ผมก็เริ่มลงมือเปิดคอมพิวเตอร์ จรดนิ้วมือลงคีย์บอร์ด เขียนมันออกมาจากประสบการณ์และความทรงจำเมื่อหลายปีก่อน
ไม่ทราบว่ารู้จัก Gap Year กันไหมครับ ? วัยรุ่นสมัยนี้อาจจะรู้จัก Gap year กันดี (มั้งนะครับ ผมไม่ค่อยได้คลุกคลีกับวัยรุ่นมากนัก) แต่ตัวผมเองผมยอมรับเลยว่าผมไม่รู้จักมาก่อนจริงๆว่ามันคืออะไร เพราะผมเรียนจบมานานมากๆแล้วนับไปนับมาก็ราว 15 ปี หลังจากเรียนจบก็แทบจะไม่เคยได้ไปข้องแวะอะไรกับกับระบบการศึกษาอีกเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเดี๋ยวนี้ระบบการศึกษาไทยพัฒนาจนมี Gap Year หรือยัง แต่ให้เดาคงยังไม่มี
GAP YEAR คืออะไร
Gap Year หรือแปลตรงตัวว่า ช่วงว่างของปี … ผมมารู้จัก Gap Year ก็เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ไปเดินเทร็คกิ้งที่เนปาล จำได้ว่าเป็นปีที่พอผมเดินทางกลับมาก็เกิดแผ่นดินไหวใหญ่พอดี ในทริปนั้นผมไปเดินที่ Annapurna Circuit ซึ่งเป็นเส้นทางเดินรอบแนวเทือกเขา Annapurna ในเนปาล ในทริปนั้นผมกับพอลได้ไปพบเจอสหายร่วมทาง เป็นคนอิสราเอลหลายต่อหลายคน ดูยังวัยรุ่นกันอยู่ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของพอล ก็เลยเข้าไปสอบถามว่า ทำไมเห็นคนอิสราเอลมากันเยอะจัง สุดท้ายก็ด้รับคำตอบ ว่าเค้ามาใช้ช่วงเวลา Gap Year กันครับ … แล้วมันคืออะไรละน่ะ …
จากการสอบถามจากไอ้หนุ่มชาวอิสราเอลคนหนึ่ง ผมก็ได้ความว่า Gap Year คือ ช่วงระยะเวลาหลังจากจบระดับมัธยม ระหว่างรอเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัย จะมีเวลาว่างราว 1 ปี ให้วัยรุ่นหนุ่มสาวได้ออกไปค้นหาเส้นทางชีวิตของตัวเอง จะไปทำกิจกรรมอะไรก็ได้ แล้วแต่อยากจะไปทำ บ้างก็ออกเดินทางเป็นแบ็คแพ็คเกอร์ รอนแรมเข้าประเทศนู้นนี้ไปเรื่อยๆ ไปดูชีวิตที่รุ่งเรืองในประเทศพัฒนา ไปดูความอดอยากแร้นแค้นในประเทศที่ยากจน บ้างก็ไปสมัครทำงานพิเศษ หาประสบการณ์ในงานที่ตัวเองชอบ บ้างก็ออกค้นหาสัจธรรมของชีวิต ไปเป็นอาสารสมัคร … อะไรก็ได้ครับในวลา 1 ปี อยากทำอะไรก็ไปทำเสีย พอลเล่าให้ฟังว่าที่ต่างประเทศหลายๆที่แถวยุโรป อเมริกา เค้าก็มีกันมานานแล้ว แต่เป็นแนวทางเลือกให้เด็กมากกว่า แต่ฟังว่าที่อิสราเอลนี่ทำจริงจังมากทีเดียว เรียกว่าแทบทุกคนต้องไปใช้ Gap Year ให้เกิดประโยชน์กัน
ผมฟังแล้วก็ตาโต นี่มันเป็นโอกาสอันดีที่วัยรุ่นที่ตั้งหน้าตั้งตาเรียนแต่หนังสือในห้องเรียน จะได้ออกไปทดสอบการใช้ชีวิต ออกไปดูโลกกว้าง ค้นหาสิ่งที่อยากเป็น สิ่งที่อยากทำจริงๆ เพราะบ่อยครั้งไปที่สิ่งที่เราเรียนในตำรากับชีวิตจริงมันช่างแตกต่างกันมากมายเหลือเกิน
ผมมานึกย้อนดูตัวเองแล้วก็พบว่า … แม้วัยผมจะเริ่มจะใกล้ 40 ปีเข้าไปเรื่อยๆ แล้วแต่ผมเองก็ไม่เคยมีช่วงเวลาในการออกไปค้นหาตัวเองแบบจริงจังเช่นนั้นมาก่อนเลย … ผมมักจะเดินตามทางมาตรฐาน หรือค่านิยมของสังคมที่เค้าแนะนำกันมา ว่าเป็นทางที่มั่นใจว่ามีกินไม่อดตายแน่ๆ ไม่หมอ ทนาย ก็วิศวกร … ไม่รู้เดี๋ยวนี้ยังเป็นแบบนี้ไหมนะครับ ไอ้เจ้าทางเดินมาตรฐานนั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมคิดอยุ่เสมอว่า … ผมกำลังหลงทางอยู่ … ผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนฝูงหลายต่อหลายคน และผมพบว่า ผมไม่ได้เป็นคนเดียวที่รู้สึกเช่นนั้น
สมัยเด็กผม หรือคนรุ่นผม มักจะถูกสอนมาเสมอๆ ว่าเรียนให้เก่ง สอบให้ได้เกรดดีๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน (ไม่รู้สมัยนี้ยังสอนกันแบบนี้ไหมครับ) ที่บ้านให้ผมเรียนพิเศษตั้งแต่ ป.5 เพื่อเตรียมสอบเข้ามัธยมชื่อดัง เรียนหนังสือที่โรงเรียนเสร็จผมก็ต้องไปเรียนพิเศษต่อ จำได้ว่าแม่เคยเอาผมไปฝากไว้บ้านอาจารย์เพื่อติวหนังสือเป็นเดือนเลย แม่ผมบอกผมเสมอว่า สอบเข้ามัธยมดีได้ ต่อไปจะได้สบายในอนาคต …
พอเข้ามัธยมที่ทางบ้านต้องการได้ ผมก็พอจะได้ใช้ชีวิตที่สนุกสนานใน ม.ต้นไปอีก 3 ปี แต่พอขึ้น ม.4 ผมก็ต้องเข้าวงจรเดิมอีกคือ ต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิยาลัย ผมเรียนพิเศษแทบทุกวัน เสาร์ อาทิตย์ก็ไม่เว้น แม่ผมบอกผมเสมอว่า สอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ต่อไปจะได้สบายในอนาคต …
สมัยผมยังมีสอบเทียบอยู่ ผมก็ต้องไปเตรียมสอบตอน ม.5 สอบไปสอบมา ดันสอบติดมหาวิทยาลัยเสียอีก ใจผมนะไม่อยากรีบเรียนหรอก เพราะผมรู้ว่าชีวิตคนเรามีช่วง ม.6 แค่ครั้งเดียว และผมกำลังจะทิ้งเวลานั้นไป … ถึงแม้ใจผมจะยังไม่อยากเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยแค่ไหนก็ตาม แต่ผมก็ไม่มีทางเลือก สุดท้ายผมก็ต้องเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยตั้งแต่จบ ม.5 จำได้ว่าก่อนมหาวิทยาลัยเปิด ผมยังไปนั่งเรียน ม.6 กับเพื่อนอยู่พักนึงเลย ….
พอเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว ชีวิตมหาวิทยาลัยผมก็สนุกสนานอยู่ราว 1-2 ปี คงเพราะสนุกมากไปหน่อย เกรดช่วงปี 1 ปี 2 ไม่ค่อยดีนัก สุดท้ายก็เลยต้องมาขยันเอาปีท้ายๆ เพื่อให้เกรดดีขึ้น … แม่บอกผมว่า จบมาเกรดดีๆ ต่อไปจะได้สบายในอนาคต …
ผมจบมหาวิทยาลัยออกมา ไม่ถึงกับเกียรติินิยมแต่ก็เกรดดีพอสมควร จบมาไม่กี่เดือน ผมก็หางานทำตามสาขาที่เรียนมา แม่ผมบอกผมว่า หางานดีๆ เงินเดือนเยอะๆ ต่อไปจะได้สบายในอนาคต….
ผมจบมาทำงานในองค์กรมีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ออกจากบ้านเช้าไปทำงาน เลิกงานก็กลับมาบ้าน … ทำไปทำมาผ่านไปเกือบ 15 ปีแล้ว พอมีตำแหน่งหัวหน้า เอาไว้สวมประดับหัวโขน แม่บอกผมว่า ตั้งใจทำงาน ให้ตำแหน่งใหญ่โต เก็บเงินเยอะๆ จะได้สบายในอนาคต…
ผมลองยกตัวอย่างชีวิตผมให้ฟังกันดูครับ ไม่รู้ว่าท่านผู้อ่านเป็นเหมือนผมไหมครับ บางทีก็มานั่งทบทวนหวนนึกถึงเส้นทางชีวิตตัวเอง แล้วก็รู้สึกว่าเราคงกำลังหลงทางอยู่เป็นแน่แท้ อนาคตที่ว่าจะสบายก็มาไม่ถึงเสียที หรือจะต้องรอหลังเกษียณก่อน
ตัวผมเองเป็นคนนึงที่ค่อนข้างจะไม่สนใจเรื่องการเรียนต่อ สวนทางกับค่านิยมในปัจจุบันเอาอย่างมาก ในประเทศไทยปัจจุบันที่คุยกับใครเค้าก็ว่าต้องเรียนให้จบโท หรือให้ดีจบเอกเลย ในความเห็นผมไม่ใช่ว่าการเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอกไม่ดีนะครับ แน่นอนว่ามันดีอยู่แล้ว แต่ผมเชื่อว่า มันจะดีก็ต่อเมื่อ เรารู้ตัวเองว่าเราอยากจะทำอะไร เราอยากจะรู้อะไร เราจะเอาไปใช้อะไร ถ้าเราคิดว่ามันใช่แล้ว เรียนไปเลยครับ อย่าลังเล … แต่มันจะแย่มากเลย ถ้าเราเรียนเพราะว่าเราไม่รู้จะทำอะไรดี หรือเรียนเพื่อหลบหนีจากชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อหน่าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักมักมักจะเป็นกลุ่มนี้ ผมเห็นด้วยว่าการมีดีกรีติดตัวเป็นเรื่องที่ดี มันทำให้เราไปได้ไกลขึ้น ไวขึ้นกว่าคนอื่นที่ไม่มี แต่ถ้าเรากำลังหลงทางอยู่ มันก็เป็นเพียงเครื่องช่วยให้เราหลงไปได้ไกลขึ้นเท่านั้นเอง
อารมณ์มันเหมือนเราเดินหลงทางอยู่ในป่า ซึ่งตามหลักการเดินป่าคือ ต้องหยุดอยู่กับที่ แล้วตั้งสติพิจารณารอบตัวดู ว่าจำทางไหนได้บ้าง ถ้าจำทางกลับได้ก็ให้ย้อนกลับไปทางเดิม ถ้าจำไม่ได้เลยก็ต้องรอจนกว่าจะมีคนมาช่วย แต่แน่นอนครับทางชีวิต มันไม่มีใครมาช่วยเราหรอก มันมีแต่ต้องพิจารณาหาทางเดินของตัวเอง … ด้วยตัวเอง
Gap Year สำหรับผมมันก็คือการหยุดเดินเพื่อทบทวนเส้นทางก่อนที่เราจะเข้าป่านั่นแหละครับ เพราะป่ามันกว้าง ทางชีวิตมันไกล ถ้าเรามัวแต่เดินโดยไม่มีแผน ไม่เคยทบทวนความต้องการของตัวเอง ถ้าเรามัวแต่เดินตามคนอื่นที่นำหน้าเราไป หรือไปตามที่คนนั้นคนนี้บอก เราจะไปโผล่ที่ไหนก็ไม่รู้ อาจจะเป็นที่ที่แย่ไปเลย หรืออาจจะเป็นที่ีที่ดี มีกินมีใช้ แต่มันก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ ก็ได้ ในเวลาไม่นานอาจจะไม่รู้สึกอะไรมาก แต่ถ้าเราต้องอยู่กับสิ่งนั้นทุกวันแล้วละก็ … เชื่อผมเถอะครับว่ามันไม่สนุกเลย
ทิ้งท้าย
ถ้าคุณยังเป็นคนที่ยังอายุน้อย ยังไม่จบมัธยม คุณมีโอกาสที่ดีแล้วที่ได้รู้จัก Gap Year ก่อน ผมแนะนำให้เริ่มเตรียมตัวไปใช้ Gap year เสีย อย่าให้เสียโอกาส เพราะทั้งชีวิตนี้คุณอาจจะมีโอกาสได้หยุดทบทวนตัวเองแค่ครั้งนี้ครั้งเดียวก็เป็นได้ครับ
ถ้าคุณเดินหลงทางอยู่ในป่ามาไกลลิบแล้วเหมือนผม มองรอบตัวไม่รู้เหนือรู้ใต้ หมอกปกคลุมรอบตัว สิ่งที่ต้องทำ ก็คือ เราต้องตั้งสติ และกล้าที่จะหาเวลาหยุดมาเพื่อทบทวนตัวเอง และเมื่อทบทวนตัวเองได้ดีแล้ว ก็ต้องกล้าที่จะก้าวไปในทางที่เชื่อมั่น ถึงแม้ว่าบางทีมันจะเป็นคนละทางชนิดหน้ามือกับหลังมือกับทางที่เดินอยู่เลยก็ตาม … อันนี้ต้องใช้ความกล้าหาญมากจริงๆครับ … ร้านอุปกรณ์เดินป่า Pete & Paul นี้ก็เป็นผลจากการนั่งทบทวนค้นหาความชอบในตัวเอง ตอนอายุเกือบ 40 ปีของผมนี่แหละครับ
ฝากไว้ด้วยความเป็นห่วงในระบบการศึกษาของบ้านเราครับ
พีท