พฤติกรรมการเดินทาง Expedition Behavior
อะไรเป็นตัวทำให้ทริปการเดินทางเป็นกลุ่มสำเร็จไปได้ด้วยดี ?
มีคำนึงที่่มักจะถูกเอามาใช้อธิบายเรื่องนี้อยู่ ผมเห็นคำนี้ในหนังสือหรือในบทความที่แนะนำการเดินป่า ในเนื้อหาบรรยายเกี่ยวกับการฝึกความเป็นผู้นำผ่านการเดินป่า โดยเค้าใช้คำว่า “Expedition behavior” หรือเรียกย่อๆ ว่า EB ถ้าให้ผมแปลเป็นไทย ก็คงจะได้ว่า ” พฤติกรรมในการเดินทาง “
Expedition behavior (EB) นั้นเป็นคำที่ Paul Petzoldt ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนความเป็นผู้นำจากการเดินป่า ( National Outdoor Leadership School) คิดขึ้นมาเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน เพื่อใช้อธิบายการมีปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในคณะเดินทาง
Photo by Justine Cornelison.
จริงๆแล้วคำนี้มักจะใช้กับการเดินทางที่หลายๆคนมารวมกัน เพื่อทำเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า เช่น พวกทริปสำรวจ หรือทริปเดินทางที่ต้องอยู่ร่วมกันยาวๆ แต่ก็สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับการอยู่ร่วมกันในทริปทั่วไปได้เหมือนกัน
ฟังจากคนที่เคยไปร่วมทริปกับโรงเรียนนี้เค้าเล่าว่า นี่เป็นสิ่งที่เค้าสอนในวันแรกที่เริ่มออกเดินทางเลย ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะปกติเวลาเราคุยกัน เรามันจะพูดถึงสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเองเป็นหลัก เช่น น้ำหนักของในกระเป๋าที่ตัวเองต้องแบก อุปกรณ์ที่เราต้องเตรียม แต่เรามักจะไม่ค่อยพูดถึงการอยู่ร่วมกับคนอื่นในการออกทริปเลย ทั้งๆที่นั่นเป็นสิ่งที่อาจจะเปลี่ยนทริปให้เป็นนรกหรือสวรรค์เลยก็ได้ … วันนี้เลยหยิบมาเล่าให้ฟังครับ
เนื่องจากเวลาที่คนเราออกห่างจากความศิวิไลซ์ เข้าไปในป่าเขา คนเราก็จะเริ่มเปลี่ยนไป เพราะในการเดินทางร่วมกัน สถานะทางสังคม ความรวยจน หรือหัวโขนต่างๆ จะไม่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าเขาเลย เมื่อนั้นคนเราก็จะเริ่มปรับตัวกับสังคมใหม่ กลุ่มใหม่ โดยอิงกับว่าพวกเขาทำอะไรได้บ้าง และตัวตนที่แท้จริงของแต่ละคนเป็นยังไงกันแน่
โดย EB ที่ดีนั้นจะช่วยให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้ เปรียบเทียบก็เหมือนกัน การปรับตัวให้อยู่ร่วมกันของคู่แต่งงานใหม่ เพราะการเดินทางร่วมกันหลายๆวันตั้งแต่เช้าจนเข้านอนของคนที่มีความแตกต่างกัน ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้
Photo by Brooks Eaton
ข้อแนะนำในการสร้าง EB ที่เป็นบวก ก็ได้แก่
1 ช่วยกันสนับสนุนเป้าหมายของกลุ่ม
ก่อนที่จะเริ่มการเดินทาง ทุกคนในกลุ่มควรจะรู้เป้าหมายของการเดินทางก่อน เช่น เพื่อไปให้ถึงยอดเขา , เพื่อพักผ่อนในป่า , เพื่อดูนกส่องสัตว์ เป็นต้น
ถ้าเป้าหมายไม่ชัดเจน หรือไม่เป็นไปในทางเดียวกัน ก็อาจจะเกิดปัญหาในการเดินทางได้ อย่างไรก็ตามแต่ละคนก็อาจจะมีเป้าหมายย่อยอื่นๆ ระหว่างการเดินทางได้ แต่ทั้งนี้ต้องยึดเป้าหมายของกลุ่มเป็นหลักก่อน
2 ต้องรู้จักดูแลตัวเองให้ได้ก่อน
กล่าวคือ คนเรานั้นถ้าความต้องการขั้นพื้นฐานของตัวเองยังไม่ได้รับการตอบสนอง ก็อาจจะเกิดปัญหากับกลุ่มได้ ความต้องการขั้นพื้นฐานของคนเรา ก็เช่น อาหาร น้ำ ที่พัก ความรู้สึกปลอดภัย ถ้าสมาชิกในกลุ่มขาดสิ่งเหล่านี้ก็ยากที่จะสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มได้
3 มีส่วนร่วม
ทุกคนที่ร่วมเดินทาง ก็ควรจะอุทิศตนให้กับกิจกรรมของกลุ่มด้วย เช่น การช่วยกันขนอาหาร ทำอาหาร กรองน้ำดื่ม ช่วยออกความเห็นในการตัดสินใจ
Photo by Carolyn Highland.
4 ช่วยคนอื่นได้ แต่อย่าไปทำแทนเค้า
มีหลายครั้งที่เพื่อนร่วมทีมต้องการความช่วยเหลือ จงช่วยเหลือ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำแทนเค้าทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์มันกลายเป็นแบบคอยพึ่งพิงแทน
5. ลดพฤติกรรมที่อาจทำให้คนอื่นเกิดความรำคาญ
ทุกคนจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่อาจจะดูสนุกสนานในช่วงแรกๆ แต่ก็จะเก่าลงอย่างรวดเร็ว เช่น มุกตลกขำขัน หัวเราะอึกทึกในตอนกลางคืน หรือการไม่แปรงฟัน ให้จัดการกับนิสัยเหล่านี้ บางอย่างก็เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคน แต่ความกดดันจากการเดินทางไกลก็อาจจะทำให้สิ่งที่เคยเป็นเสน่ห์กลายเป็นเรื่องน่ารำคาญสำหรับคนอื่นได้
6. ยอมรับข้อบกพร่องและแก้ไขให้ถูกต้อง
เมื่อทำผิดพลาด จงยอมรับผิดและเดินหน้าต่อไป ซึ่งจะทำให้คนอื่นๆ ในกลุ่มให้อภัยและช่วยเหลือได้ การปกปิดความผิดพลาดหรือพยายามโทษคนอื่นหรือโทษว่าเป็นสถานการณ์ที่นอกเหนือการควบคุม จะสร้างความตึงเครียดในกลุ่มมากขึ้น
7. สนับสนุนการพัฒนาของสมาชิกในกลุ่ม
การเดินทางจะช่วยสร้างทักษะและความแข็งแกร่งในแต่ละคน การสลับกันเป็นผู้นำ หรือสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนผลัดกันเป็นผู้นำ ผลัดกันดูแลความปลอดภัย สำรวจกระแสน้ำ และผลัดกันทำหน้าที่สำคัญอื่นๆ จะสร้างความเป็นผู้นำให้เราทุกคนได้ เผื่อกรณีที่ตัวหลักเกิดบาดเจ็บขึ้นมาก็จะยังมีคนทำหน้าที่แทน
8. ทำตัวเหมือนวัว
เมื่อการเดินทางยากลำบาก คนที่แข็งแกร่งจะไม่ออกอาการมากนัก เป็นเหมือนกับวัว ก็คือหมายถึง คงความสงบนิ่ง และตรึกตรองหาทางออก เช่นกรณีเกิดพายุกะทันหัน หรือ เพื่อนรวมทีมที่เริ่มรู้สึกไม่สบายใจ ถ้าเราออกอาการมากจะทำให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในกลุ่ม การสงบนิ่งไม่ได้หมายความว่าเพิกเฉยไม่สนใจ แต่หมายถึงการที่คุณคิดและวางแผนอย่างใจเย็น
9. ตื่นตัวแต่ก็ผ่อนคลาย
ปลูกฝังจิตสำนึกแห่งการผ่อนคลายและเพลิดเพลินกับธรรมชาติ แต่ยังคงตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยของสภาพอากาศ สภาพหิมะ สภาพของทะเล และปัจจัยอื่นๆ กลุ่มที่ดูสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจะมีเวลาตั้งแคมป์ป้องกันพายุได้ก่อนการพายุจะเข้า….เพราะพวกเขาสังเกตุเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในรูปแบบเมฆหรือสังเกตเห็นการลดลงของความดันบรรยากาศมาก่อนหน้าแล้ว
10. มีอารมณ์ขัน
การเดินทางอาจทำให้เครียดได้ และยิ่งกว่านั้นเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ ให้รักษาบรรยากาศสบายๆ เอาไว้ …แต่ก็ยกเว้นบางเวลานะครับ ไม่ใช่ทุกเวลาที่ควรจะมีอารมณ์ขัน
การเดินทางนั้นมีความท้าทายมากเกินกว่าจะสรุปเป็นกฎที่มีแค่ขาว-ดำ แต่การมี Expedition behavior ที่ดีสามารถช่วยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยังสามารถอยู่ด้วยกันได้ แม้ตอนที่ฝนตกกระหน่ำอย่างรุนแรง เมื่อเต็นท์เกิดรั่ว และตอนที่นอนหนาวสั่น นอกจากนี้ Expedition behavior ยังเป็นสิ่งที่ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างนักเดินทางลึกซึ้งและยั่งยืนขึ้น