วิธีการป้องกัน และรักษาอาการแพ้ความสูง ฉบับ WMS ปี 2019

กรกฎาคม 19, 2019 เทคนิคการเดินทาง

เมื่อหลายปี ผมจำปีไม่ได้ชัดเจน แต่จำได้ว่าพอผมกลับมาถึงประเทศไทยได้ไม่กี่วันก็เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเนปาลขึ้น ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมไปเดินที่เนปาล ตอนนั้นไปเพราะพอลชักชวนไปเดินที่เส้น ABC Circuit ด้วยเหตุว่าเป็นเส้นทางหนึ่งที่ถูกโหวตจากเหล่านักเดินทางให้เป็นหนึ่งในเส้นทางเทร็คที่สุดยอดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะความหลากหลายของภูมิประเทศที่ต้องเดิน ตั้งแต่ระดับความสูง 600 เมตร ไปจนขึ้นสูงสุดที่ 5,400 กว่าเมตร ระยะทางตั้งแต่ 160 -230 km (ขึ้นกับผู้เดินครับ เพราะบางช่วงรถมันไปถึงแล้ว)

เส้นทางเดินเป็นเส้นทางเดิน ABC Circuit จะเป็นการเดินเป็นวงกลมรอบแนวเทือกเขา Annapurna โดยมีจุดที่สูงที่สุดคือ Thorong La pass ที่ระดับความสูงราว 5416 เมตร ( สูงกว่า Everest Base Camp ด้านฝั่งเนปาลสุง 5364 เมตร)

เส้นที่เดินรอบเป็นวงนั่นแหละครับ เส้นทาง ABC Circuit

ด้วยความที่เชื่อว่า มีไกด์กับไม่มีไกด์ หิมะถล่มก็ตายเหมือนกัน …  เพราะอ่านหนังสือพิมพ์เก่า พบว่าตอนหิมะถล่ม ไกด์ก็ตายด้วย ประกอบกับพอลมีประสบการณ์เดินบนภูเขาหิมะที่มีความสูงราว 6,000 เมตรอยู่บ้าง คณะเราก็เลยไม่ได้จ้างไกด์ไป เพราะรู้ดีว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่มีคนเดินเยอะในระดับหนึ่งครับ สามารถเดินไปถามทางไปได้ แต่ถ้าเป็นพื้นทีอื่นที่คนน้อย ผมก็คงต้องจ้างไกด์เหมือนกัน (จริงๆ ผมสนับสนุนการกระจายรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นครับ)  … จำได้ว่าพอถึงเมือง Manang ที่ระดับความสูงราว 3500 เมตร ก็จะมีการประกาศให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินขึ้นไปต่อ ได้ไปฟังแนวทางการปฏิบัติตัวในการเดินขึ้นภูเขาสูง ว่าต้องประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร

แน่นอนว่า ผมคนเกิดเมืองไทย เรียนเมืองไทย มาตลอดทั้งชีวิต ภาษาอังกฤษก็ได้แค่ระดับพอสื่อสารได้ จะให้ไปฟังฝรั่งพูดศัพท์ด้านภูเขา ปนศัพท์วิชาการแพทย์นี่ก็อาจจะเกินกำลังที่จะฟังเข้าใจได้ทั้งหมด โดยเฉพาะบทสนทนายาวๆ ราว 20-30 นาที ฟังไปจับใจความได้บ้างไม่ได้บ้าง ฝรั่งคนอื่นฟังก็ยกมือสอบถาม บางทีวิทยากรก็ชี้มือมาหาผู้ฟังแล้วยิงคำถามเพื่อทดสอบความเข้าใจ ผมทำตัวเหมือนสมัยเรียนหนังสือคือหลบอยู่ไกลๆ และก้มหน้าต่ำ ภาวนาในใจว่าอย่าถามผมเลย แค่ฟังก็ไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว ก็ได้แต่อาศัยพอลที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศมาหลายปีแปลความให้ฟังเอา เนื่องจากผมไม่เคยไปกับไกด์ เลยไม่ทราบเหมือนกันว่าไกด์จะบรรยายเรื่องพวกนี้ให้ฟังหรือเปล่านะครับ แต่ถ้าเค้าบรรยายให้ฟังก็ถือว่าเป็นไกด์ที่ได้มาตรฐานเลย

เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับใครก็ตามที่คิดจะขึ้นภูเขาสูง ผมจึงเห็นว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักเดินทางจะเรียนรู้เรื่องนี้เอาไว้ครับ วันนี้ก็เลยจะหยิบเรื่อง อาการแพ้ความสูง หรือที่เรียกว่า Altitude Sicknessมาเล่าให้ฟังครับ

เรื่องนี้ก็มีคนเขียนไว้หลายคนอยู่นะครับ ภาษาไทยก็มีหลาย web ที่เอามาลง แหล่งที่มาก็หลากหลาย ความน่าเชื่อถือก็หลายหลาย สำหรับส่วนที่ผมจะหยิบมาเล่าให้ฟังนี้มาจาก WMS หรือ Wilderness Medical Society ที่ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาการแพ้ความสูง มาสรุปและจัดทำเป็นคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขึ้นภูเขาสูงครับ โดยข้อมูลที่ผมเอามาลงนี้ เป็นฉบับอัพเดตข้อมูลล่าสุดที่เพิ่งออก เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2019 นี้เองครับ เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่า เป็นข้อมูลล่าสุด ที่เชื่อถือได้ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ

พื้นฐาน

คู่มือของ WMS นี้ เป็นแนวทางปฏิบัติกับอาการแพ้ความสูง ที่มักจะเกิดเวลาที่เราไต่ระดับขึ้นไปถึงระดับความสูงที่เราไม่คุ้นเคยอย่างรวดเร็วเกินไป จนร่างกายไม่สามารถที่จะปรับตัวกับปริมาณออกซิเจนในอากาศที่น้อยลงได้ครับ อาการนี้จะเป็นคนละแบบกับอาการที่เรียกว่า Chronic Mountain Sickness (CMS) นะครับ ถึงแม้ว่าลักษณะอาการจะใกล้เคียงกันก็ตาม แต่ CMS เป็นลักษณะอาการที่เกิดกับคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนที่สูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆครับ

โดยทั่วๆไปแล้ว อาการแพ้ความสูง เริ่มมีโอกาสเกิดที่ระดับความสูง 2,500 เมตร (สำหรับบางคนอาจจะเป็นได้ที่ระดับ 2,000 เมตรก็เป็นไปได้) โดยอาการเริ่มแรก ก็คือ ปวดหัวอ่อนๆ อ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน และอาการอื่นๆ อีกเช่น นอนไม่ค่อยหลับ  หายใจถี่ หัวใจเต็นท์เร็ว ครับ ในคู่มือของ WMS ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ในการพิจารณาว่าเป็นอาการแพ้ความสูงหรือเปล่านั้น ให้พิจารณาความเป็นไปได้อื่นไว้ด้วย เช่น อาการขาดน้ำ (dehydration) หรือ อาการภาวะโซเดียมในร่างกายต่ำที่เรียกว่า hyponatremia ( สาเหตุหนึ่ง ก็เกิดจากดื่มน้ำมากเกินไปจนปริมาณโซเดียมในเลือดเจอจางลงครับ) 

ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วระดับของอาการแพ้ความสูง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

อย่างแรกที่พบเจอมากที่สุด ก็คือ อาการที่เรียกว่า AMS (Acute Mountain Sickness) ซึ่งอาการคือ ปวดหัว พร้อมกับอาการอื่นๆ ต่อไปนี้อีก อย่างน้อย 1 อาการ ได้แก่ คลื่นไส้/อาเจียน , อ่อนล้า, ไม่มีแรง และเวียนหัว
ถ้าอาการหนักมากๆ AMS สามารถที่จะต่อยอดไปเป็นอาการที่เรียกว่า HACE (High-Altitude Cerebral Edema) ซึ่งเป็นระดับอันตรายที่สมองเกิดอาการบวมจากของเหลว และทำให้สมองทำงานผิดพลาด ยกตัวอย่างเช่น เวียนหัว เป็นอาการของ AMS แต่ถ้าเป็นหนักมาก จนทดสอบความสมดุลในการเดินไม่ผ่าน นั่นก็เป็นตัวบ่งบอกอาการที่เรียกว่า Ataxia (ลักษณะอาการเดินเซไปมาเหมือนคนเมาเหล้าครับ) ซึ่งนั่นก็เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของ HACE

อาการลักษณะที่ 3 ซึ่งแยกออกมาจาก AMS และ HACE ก็คือ อาการ HAPE (High-Altitude Pulmonary Edema)ซึ่งเป็นอาการที่หลอดเลือดฝอยเกิดความเสียหาย เนืองจากมีของเหลวถูกดันเข้าไปในปอด ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลงเรื่อยๆ

AMS เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป และมักจะหายไปหลังจากผ่านไป 2-3 วัน แต่ HACE และ HAPE สามารถทำให้เสียชีวิตได้เลย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แน่นอนครับว่าถ้าเป็น HACE หรือ HAPE ก็ต้องทำใจ เพราะทริปการเดินทางของคุณก็ถือว่าจบลงแล้วครับ

การหลีกเลี่ยงอาการแพ้ความสูง

วิธีการที่ได้ผลดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงอาการแพ้ความสูงคือ การค่อยๆไต่ระดับขึ้นไปครับ แม้ว่าเราจะยังไปไม่ถึงระดับความสูงที่มีความเสี่ยงก็ตาม ถ้าเราพักซักคืนก่อนจะขึ้นสูงไปอีก ก็จะช่วยได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณขึ้นไปสูงถึงระดับ 3,000 เมตร คู่มือของ WMS แนะนำว่า ให้ตั้งเป้าที่พักค้างแรมที่ระดับความสูงขึ้นไปไม่มากกว่า 500 เมตร ต่อวัน และแนะนำให้เพิ่มวันเพื่อให้ร่างกายปรับสภาพอีก 1 วัน ทุกๆ 3-4 วันของการเดินทาง และถ้าวิธีการเดินทางทำให้คุณจำเป็นต้องขึ้นสูงกว่าระดับ 500 เมตรใน 1 วัน ให้พยายามเพิ่มวันในการให้ร่างกายปรับสภาพ โดนให้ค่าเฉลี่ยของการขึ้นในแต่ละวัน ไม่เกินระดับความสูง 500 เมตรต่อวันครับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมจำเป็นต้องขึ้นจากระดับความสูง 3000 เมตร ในวันเดียวไปที่ 4000 เมตร ผมควรจะหยุดเพื่อปรับสภาพร่างกายอีก 1 วัน เพื่อให้ค่าเฉลี่ยการขึ้นแต่ละวันไม่เกิน 500 เมตรครับ ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับระดับความสูงที่พักค้างแรม มากกว่าระดับความสูงที่เดินระหว่างวันนะครับ

เพิ่มเติมว่า มีหลายแหล่งข้อมูลที่ใช้ค่า การขึ้นในแต่ละวันที่ไม่เกิน 300 เมตร แต่ทีมของ WMS บอกว่ายังไม่มีหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ใดที่สนับสนุนการใช้ค่าที่ 300 เมตร เค้าว่าเป็นเพียงค่าที่เผื่อกันเหนียวไว้ครับ ลองนึกดูว่าถ้าไปเดิน Everest Base Camp ที่สูงเกือบ 5,400 เมตร โดยเริ่มเดินจากระดับความสูง 3,000 เมตร โดยเดินขึ้นระดับความสูงได้ที่วันละ 300 เมตร กว่าจะถึง Base Camp ต้องใช้เวลาอีกราว 8 วันเลยครับ เวลาที่มากขึ้น ก็หมายวันหยุดที่หายไปมากขึ้น (ซึ่งปกติก็น้อยอยู่แล้ว) เงินที่เสียไปมากขึ้น จากค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าจ้างไกด์

การใช้ยาและทางเลือกอื่น

ประการนี้ขึ้นกับกับลักษณะเส้นทางเดิน และสภาพร่างกายของแต่ละคน ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่า โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ความสูงมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าหากว่าคุณมีประวัติเคยมีอาการแพ้ความสูงมาก่อน ก็มีความเป็นไปได้ว่าคุณจะเป็นอีก ก็ถือว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น แต่การที่เราไม่เคยมีประวัติเคยเป็นมาก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เป็น โดยเฉพาะถ้าเราไปเดินในที่ห่างไกล ซึ่งคนน้อยมาก การกินยาก็ถือเป็นการป้องกันอย่างหนึ่งครับ

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ควรพิจารณาว่าจะใช้ยาหรือไม่ก็คือ ความเร็วในการไต่ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การขึ้นยอดเขา คิริมันจาโร ซึ่งมีความสูงราว 5,900 เมตร ซึ่งใช้เวลาแค่ 7 วัน ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ความสูงมากขึ้น

สำหรับอาการ AMS และ HACE คู่มือของ WMS กล่าวไว้ว่า ยาที่เป็นทางเลือกลำดับแรกในการป้องกันก็คือยา Acetazolamide (Diamox) โดยให้เริ่มกินวันก่อนหน้าที่จะเริ่มเดินขึ้น และกินต่อเนื่องไป จนถึง 2 วันหลังจากที่คุณขึ้นไปถึงจุดสูงที่สุดหรือจุดที่เริ่มเดินลง (อันไหนมาก่อนก็ยึดอันนั้นครับ) ปริมาณยาโดยปกติสำหรับผู้ใหญ่คือ 125 mg ทุกๆ 12 ชั่วโมง แต่ถ้าหากคุณเป็นคนที่แพ้ตัวยา Acetazolamide ตัวยาอีกตัวที่ใช้ได้คือ Dexamethasone ในกรณีพิเศษซึ่งพบน้อยมาก สามารถใช้ทั้ง 2 ตัวพร้อมกันก็ได้ เช่นในทางทหาร หรือ ทีมกู้ภัยที่จำเป็นต้องไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็วขึ้นไปสูงกว่า 3,500 เมตร โดยไม่มีเวลาในการหยุดพักเพื่อปรับสภาพร่างกาย

ตัวอย่าง Acetazolamide (Diamox)

ตัวอย่าง Acetazolamide (Diamox)

สำหรับ HAPE เราควรจะใช้ยาป้องกันเฉพาะคนที่เคยมีประวัติเคยเป็นแล้วเท่านั้น ในกรณีดังกล่าว ยาที่ใช้ก็จะเป็นยา Nifedipine ซึ่งใช้ก่อนวันที่เริ่มเดินไต่ระดับขึ้น และใช้ต่อเนื่องไปอีก 4 ถึง 7 วัน หลังจากที่ขึ้นไปถึงจุดสูงที่สุดหรือจุดที่เริ่มเดินลง

ตัวอย่าง Acetazolamide (Diamox)

การรักษากรณีที่เกิดอาการแพ้ความสูง

การรักษาที่ดีที่สุด และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด คือ … เดินกลับลงจากเขา ครับ โดยปกติการเดินลดระดับความสูงลงมา 300-1,000 เมตร จะช่วยให้อาการหายไปได้ และถ้าพึ่งรู้สึกว่ามีอาการ AMS ก็ยังไม่จำเป็นต้องเดินลงนะครับ แต่ควรจะหยุดเดินขึ้นต่อ สามารถกินยา Acetaminophen (Tylenol) หรือ ibuprofen สำหรับรักษาอาการปวดหัว และ Antiemetic เช่น Gravo สำหรับอาการคลื่นไส้ แต่ถ้าอาการแย่ลง หรือไม่หายไปในเวลา 1 หรือ 2 วัน ก็ถึงเวลาที่จะต้องเดินลงแล้วครับ

ถ้าหากคุณเป็น HACE หรือ HAPE มีวิธีการแก้ไขที่ซับซ้อนอยู่บ้าง เช่น การให้ออกซิเจนเพิ่ม และ การใช้เครื่องออกซิเจนบำบัดแบบเคลื่อนที่ (Hyperbaric Chambers) สำหรับ HACE แนะนำตัวยา Dexamethasone เป็นตัวเลือกแรก (ตรงข้ามกับกรณีใช้เพื่อป้องกัน ซึ่งจะแนะนำ Acetazolamide เป็นตัวเลือกแรกครับ) และ สำหรับ HAPE ยาที่ใช้รักษาก็จะเป็นตัวเดียวกับที่ใช้ป้องกัน ซึ่งก็คือ Nifedipine ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ในการรักษา ในกรณีที่คุณไม่สามารถจะเดินลงและไม่มีออกซิเจนเสริม แต่อย่างไรก็ตามหลักฐานที่ยืนยันว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลนั้นยังค่อนข้างอ่อนอยู่ครับ ในกรณีที่อาการหนัก เกณฑ์การตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรจะค่อนข้างซับซ้อน แต่โดยหลักแล้วคือคุณต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และ/หรือ ลงจากภูเขาทันที

เครื่องออกซิเจนบำบัดแบบเคลื่อนที่ (Hyperbaric Chambers)

ในคู่มือยังมีวิธีการอีกหลายอย่างนะครับ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยาตัวอื่น หรือการใช้สมุนไพร ซึ่งบางตัวก็ให้ผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น การใช้ Ginkgo ฺBiloba (แป๊ะก้วย มีผลข้างเคียงต่อคนบางกลุ่ม เช่นผู้หญิงตั้งครรภ์) , การเคี้ยวใบโคคา (เป็นวิธีการป้องกัน AMS ที่แนะนำนักเดินทางในแถบเทือกเขาแอนดีส) หรือการใช้กระป๋องออกซิเจนขนาดเล็ก รวมถึงการใช้ไวอะกร้าสำหรับอาการ HAPE ซึ่งพวกนี้ยังไม่มีการศึกษาใดที่ชี้ชัดได้ว่าเป็นประโยชน์จริงๆ วิธีเหล่านี้จึงควรจะใช้ก็ต่อเมื่อได้ทำตามขั้นตอนมาตรฐานที่กล่าวไว้ข้างต้นไปหมดแล้ว (รวมถึงการเดินลงด้วยนะครับ) แต่ว่าอาการยังไม่ดีขึ้นนะครับ 

ในคู่มือฉบับนี้ยังได้พูดถึงทางเลือกใหม่ซึ่งมีการนำมาพิจารณาด้วย คือ การใช้ เต็นท์ Hypoxic  หรือบ้างก็เรียก Altitude tent เพื่อปรับสภาพร่างกาย เจ้าเต็นท์แบบนี้จะเป็นเต็นท์ที่ออกแบบมาเพื่อจำลองสภาพเสมือนว่าอยู่บนภูเขาสูงครับ โดยทำให้ปริมาณออกซิเจนข้างในเบาบางลง เสมือนกับอยู่บนภูเขาสูงจริงๆ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสภาพก่อน โดยแนวคิดนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา เค้าพบว่ามีโอกาสเกิด AMS ที่น้อยลงสำหรับคนที่ออกกำลัง หรือ นอนหลับในสภาพที่ออกซิเจนน้อยกว่าระดับปกติ วิธีนี้ในขั้นตอนการศึกษายังถือว่าไม่สามารถฟันธงได้แน่นอนนะครับ แต่ในทางปฏิบัติก็ถือเป็นวิธีที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นวิธีที่นักวิ่งชื่อดังอย่าง Kilian Jornet ใช้ในการขึ้นเขาเอเวอร์เรส 2 รอบติดต่อกันได้ ในปี 2017 และเป็นวิธีที่ Roxanne Vogel ใช้ขึ้นเอเวอร์เรส ได้ในเวลาเพียง 14 วันนับตั้งแต่ออกจากบ้านที่แคลิฟอเนียร์

เต็นท์ Hypoxic หรือ บ้างก็เรียก Altitude Tent

อย่างไรก็ตามนะครับ วิธีการใช้ เต็นท์ Hypoxic นี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอที่จะบอกได้ว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไรถึงจะดีที่สุด ในคู่มือของ WMS แนะนำว่า วิธีนี้มีแนวโน้มที่จะให้ผลดี คือต้องใช้เวลาอยู่ในสภาพออกซิเจนน้อย นานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายอาทิตย์ก่อนที่จะออกเดินทางขึ้นภูเขาจริงๆครับ ถ้าไม่ต่อเนื่อง หรือ ไม่บ่อยพอ รวมถึงใช้แค่การออกกำลังอยู่ภายในเต็นท์ ก็จะไม่มีประโยชน์เท่าไหร่ นี่ยังไม่นับว่าต้องใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายในการให้ระบบทำงานอีก นอกจากนั้นคุณต้องมั่นใจว่านอนหลับได้ดีด้วยนะครับ เพราะถ้านอนหลับไม่เต็มที่ ผลที่ทำมาก็อาจจะเสื่อมลงได้

ในท้ายที่สุด WMS ย้ำว่า ไม่มีอะไรรับประกันได้แน่นอนว่าคุณจะไม่เกิดอาการแพ้ความสูง คุณอาจจะทำตามวิธีการในคู่มือได้อย่างดีเยี่ยมทุกอย่าง ไต่ระดับขึ้นช้าๆ กินยาป้องกัน และใช้เวลานอนใน เต็นท์ Hypoxic จนแล้วจนรอด คุณก็ยังอาจจะเกิดอาการปวดหัวได้ตั้งแต่วันที่ 2 ของทริป สาเหตุเพราะว่าร่างกายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน การปรับตัวให้เข้ากับระดับความสูงก็มีความเร็วที่ต่างกัน … แต่เท่าที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันค้นพบ วิธีการทั้งหมดที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้วนั้น…เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ความสูงครับ

ท่านใดสนใจศึกษาตัวเต็มสามารถ อ่านได้ที่นี่ครับ จะลงรายละเอียดไว้มากกว่าที่ผมลง เช่นปริมาณยาสำหรับกรณี HAPE และ HACE  ซึ่งผมไม่ได้ลงไว้ เนื่องจากไม่ใช่ยาที่มีโอกาสใช้มากนัก และยาบางอย่างมีผลข้างเคียง ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญครับ

Wilderness Medical Society Practice Guidelines for the Prevention and Treatment of Acute Altitude Illness: 2019 Update

บทความนี้ผมเรียบเรียงโดยใช้บทความจาก Outside Online ประกอบกับคู๋มือของ WMS นะครับ

ขอบคุณที่ติดตาม

พีท