9 ข้อที่เกี่ยวกับการหลงทางที่คุณจำเป็นต้องรู้

มิถุนายน 1, 2017 เทคนิคการเดินทาง

การหลงทาง หรือพลัดออกจากกลุ่ม ในการเดินป่า จะแบบที่เป็นทางเดินชัดเจน หรือเป็นแบบหญ้าท่วมตัว ก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ อย่าคิดว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัว เพราะมันใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด และมันจะใกล้ที่สุด ตอนที่มันเกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ตัว … ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยต้องตามหาเพื่อนที่หลงทางในเส้นทางที่ไม่น่าจะหลงมาแล้ว ไม่ขอบอกชื่อสถานที่นะครับ เพราะถ้าบอก คนที่เคยไปจะสงสัยว่า มีหลงทางกันด้วยหรือเส้นทางนี้ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง นี่คุือสิ่งที่คุณต้องรู้ครับ

1) กันไว้ดีกว่าแก้ครับ

อย่ารอให้เกิดการหลงกันครับ ป้องกันไว้ก่อน โดยการแจ้งให้สมาชิกในกลุ่มรู้จุดหมายปลายททางของการเดินทางก่อนว่า เรากำลังจะไปไหน เส้นทางเป็นอย่างไรและมีแผนการอะไรบ้าง

2) แจ้งความต้องการแต่ละคนออกมา

ในการเดินทางเป็นกลุ่ม แน่นอนว่าความสนใจของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน หากมีสมาชิกที่อยากจะแวะข้างทาง หรือ ทำกิจกรรมอื่นระหว่างทาง เช่น แวะไปชมน้ำตกระหว่างทาง หรือ บางคนชอบถ่ายภาพ ใช้เวลาในการเดินนาน ก็ให้แจ้งความต้องการออกมาก่อนในกลุ่มก่อน เพื่อนัดแนะตกลงกันว่าจะไปเจอกันที่ไหน เมื่อไหร่ ขอแนะนำให้ใช้พวกทางแยก หรือ จุดสนใจอื่นๆเป็นจุดนัดพบ ตกลงกันให้ชัดเจนก่อนเริ่มเดิม

3) เกาะกลุ่มกันไว้

ประการนี้ไม่ต้องถึงขนาดเดินตัวติดกันนะครับ อาจจะห่างกันเป็นร้อยเมตรก็ได้ครับ จุดสำคัญอยู่ที่ให้มองเห็นกัน หรือ ได้ยินเสียงกันได้ ขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศที่เดินด้่วย ถ้าเป็นป่ารกทึบ ก็ต้องอยู่ใกล้กันหน่อย แต่ถ้าเป็นทางราบโล่งๆ ไม่มีอะไรบดบังสายตามองเห็นกันได้ตลอด ก็ห่างกันไกลได้ แล้วแต่จังหวะความเร็วของแต่ละคน

4)  อุปกรณ์ยามจำเป็นต้องมี

อุปกรณ์ที่ทุกคนควรจะมีติดกระเป๋าตัวเองเสมอ คือ อุปกรณ์สำหรับเหตุฉุกเฉิน เช่น น้ำ ขนม เสื้อหนาว ไฟฉาย การพกนกหวีดเอาไว้เอาขอความช่วยเหลือก็เป็นทางเลือกหนึ่ง โดยเป่าทุก 3 ครั้งติดๆกัน แล้วเว้น 30 วินาที แล้วค่อยทำซ้ำวนไปเรื่อยๆ อย่าลืมเว้นช่วงฟังเสียงคนตอบรับด้วยนะครับ หลายๆคนมักจะติดนิสัยในการให้ลูกหาบแบกให้ทุกอย่าง อย่าลืมนะครับว่าบ่อยครั้งที่ลูกหาบไม่ได้เดิินเกาะกลุ่มไปกับเราตลอด หากเกิดหลงทางขึ้นมาอย่างน้อยต้องมีอุปกรณ์ที่ทำให้เราเอาตัวรอดจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึงได้

5)  คอยกันตามทางแยก

แนะนำให้สมาชิกรวมตัวกันทุกๆ ทางที่มีทางแยก หรือจุดที่สภาพแวดล้อมอันตราย เช่น การเดินข้ามลำน้ำ โดยจะใช้การประเมินสถานการณ์เป็นกลุ่มเพื่อตัดสินใจว่า ควรจะไปต่อหรือไม่ เช่น กรณีที่ระดับน้ำขึ้นสูงแบบฉับพลัน หรือฝนตกหนัก มีความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่ม เป็นต้น

6) อยู่บนเส้นทาง

พยายามเดินอยู่บนทางหลัก ไม่ออกนอกเส้นทาง ถ้ากรณีที่มีเด็กๆ ไปด้วยยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย อาจจะพลัดหลงออกนอกเส้นทางได้ ต้องเน้นย้ำกันให้ชัดเจนว่า … ให้เดินอยู่บนทางหลัก ไม่ออกนอกทาง

7) อย่าตื่นตระหนก

พึงมีสติไว้ในทุกๆ สถานการณ์นะครับ เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผล

8) หยุดและพัก

ถ้าหากหลงทางจนไม่สามารถจำแนกทิศทางได้ ให้หาจุดเพื่อหยุด แล้วใช้นกหวีดเป่า รอความช่วยเหลือมา อย่างที่แนะนำไว้ในข้อก่อนหน้า ว่าเวลาเป่านกหวีดอย่าเป่าติดๆ กัน ต้องมีช่วงหยุด เพื่อรอฟังเสียงคนอื่นตะโกนเรียกมาด้วย

9) ติดต่อขอความช่วยเหลือ

ในกรณีที่มีเพื่อนในกลุ่มพลัดหลงไป ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นก่อนเริ่มเดิน สมาชิกทุกคนควรจะต้องรู้ว่า ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ควรจะต้องขอความช่วยเหลือจากใคร ปกติทางเดินที่มาตรฐานมักจะมีป้ายติดแจ้งวิธีการติดต่อขอความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

และนี่คือ 9 ข้อทีควรต้องรู้ เกี่ยวกับการหลงทาง ผมเชื่อเหลือเกินว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนพี่น้องผู้มีใจรักในกิจกรรมกลางแจ้งทุกท่าน

แล้วพบกันบน trail นะครับ
พีท

ปรับปรุงจากบทความใน นิตยสาร Outside บทความโดย Katie Arnold