ไม้เท้าเดินป่า (Trekking Pole) นั้น สำคัญไฉน ?

เรื่องเล่าจากประสบการณ์

สมัยก่อนตอนที่ผมเริ่มหัดเดินเทรลใหม่ๆ ผมมีความเชื่อผิดๆ อยู่ประการหนึ่ง คือ ผมเชื่อว่าไม้เท้าเดินป่า ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Trekking Pole หรือบ้างก็เรียก Hiking Pole  หรือ Hiking Staff เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเอามาใช้เลย มันเป็นอุปกรณ์สำหรับคนอ่อนแอ เหมาะกับคนที่ไม่มีกำลังจะเดินเองต้องใช้เครื่องมือช่วย และผมขอสารภาพตรงนี้เลยครับว่า ความคิดนั้นเป็นความคิดที่ผิดอย่างยิ่่ง ถึงขั้นต้องเชิญตัวมาปรับทัศนคติกันเป็นการด่วน แต่เชื่อไหมครับว่าหลายต่อหลายคนก็มีความคิดผิดๆ แบบผมสมัยก่อน

สมัยที่พอลกลับมาจากอเมริกาใหม่ๆ ผมเห็นพอลมักจะพกไม้เท้าเดินป่า ติดตัวไปทุกที่ ผมก็เลยมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องของ ไม้เท้าเดินป่า จากพอล ซึ่งก็ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์อย่างหนึ่งเลยทีเดียว ช่วงแรกๆใช้จะไม่ชินเลย รู้สึกเดินยากกว่าเดิม แต่พอผ่านไปซักทริปนึงก็จะคุ้นเคยมากขึ้น หลังจากนั้น ไม่ว่าจะไปทริปไหน จะในประเทศ หรือต่างประเทศ จะใกล้หรือไกล จะเป็นป่าดิบชื้น หรือภูเขาหิมะ ก็เป็นอุปกรณ์ที่ผมต้องพกติดตัวไปเสมอๆ ประหนึ่งกระบี่คู่ใจของจอมยุทธ์ก็ไม่ปาน แต่ยังไม่ถึงขนาด กระบี่อยู่คนอยู่ กระบี่หายคนม้วยนะครับ เพราะไม้เท้าเดินป่าหาย .. ก็ซื้อใหม่สิ

ประโยชน์ของ TREKING POLE

เรามาลองดูประโยชน์ของไม้เท้าเดินป่ากัน ว่ามันมีอะไรบ้าง ทำไมถึงเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ควรจะพกติดตัว

  • ไม้เท้าเดินป่าช่วยรักษาความสมดุลของร่างกายขณะเดิน ไม่ว่าจะเป็นพื้นขรุขระ พื้นโคลนเหนอะหนะ หรือ พื้นหิมะ โดยเฉพาะเวลาที่คุณต้องแบกเป้แบ็คแพ็คที่มีน้ำหนักมาก ร่างกายคุณมีโอกาสเสียสมดุลจนล้มได้ง่าย เราจะใช้อุปกรณ์นี้เป็นเครื่องมือช่วยในการรักษาสมดุล ซึ่งนี่ถือเป็นประโยชน์หลักของไม้เท้าเดินป่าเลยนะครับ ลองนึกภาพการเดินโดยมีไม้เท้าเดินป่าอยู่ในมืออย่างละข้างสิครับ ถ้าเกิดเท้าข้างหนึ่งเกิดลื่นไป เรายังมีจุดที่จุดที่สัมผัสพื้นอีก 3 จุด คือเท้าเราอีกข้างหนึ่งและไม้เท้าเดินป่าอีก 2 ข้าง
  • ช่วยในการกระจายน้ำหนัก แทนที่จะให้น้ำหนักลงที่ขาอย่างเดียว การใช้ไม้เท้าเดินป่าจะช่วยกระจายน้ำหนักให้ไปลงที่ส่วนแขนด้วย ลดภาระที่จะไปตกลงที่ส่วนขา เข่า ข้อเท้า จะมีประโยชน์มากตอนที่ขึ้นหรือลงเขา และกรณีที่เกิดการบาดเจ็บที่เท้า ที่ไม่สามารถจะลงน้ำหนักที่เท้าได้เต็มที่ ข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ มันเป็นอุปกรณ์ในการกระจายน้ำหนักนะครับ ไม่ควรกดน้ำหนักลงไปทั้งหมดที่ไม้เท้าเดินป่า
    • ระหว่างการเดินขึ้นเขา จะช่วยเพิ่มแรงส่ง ลดภาระที่ร่างกายช่วงล่าง โดยกระจายไปลงที่ส่วนไหล่ และหลังด้านบน
    • ระหว่างการลงเขา ช่วยลดภาระที่เกิดกับขา เอว และข้อต่อ ลดโอกาสในการเกิดการบาดเจ็บ เพิ่มเสถียรภาพในการเดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีปัญหาหัวเข่า ข้อเท้า

ใช้เป็นโครงค้ำเต็นท์ หรือ ที่กำบัง

  • ใช้เป็นอุปกรณ์ในการข้ามลำธาร หรือ พื้นที่ลื่นๆ ลองนึกภาพการเดินข้ามน้ำที่ต้องย่ำไปบนหินที่มีตะไคร่ลื่นๆ ขึ้นดูสิครับ นอกจากพื้นจะลื่นแล้ว บางทีน้ำก็แรง ทำให้เสียการทรงตัวขณะเดินได้ง่ายเลย
  • ใช้เป็นอุปกรณ์ในการทดสอบพื้นที่จะเดิน เช่น ใช้หยั่งความลึกของพื้นใต้น้ำ ใช้ทดสอบความแน่นของดินที่จะเดินผ่าน เป็นต้น
  • สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลได้ เช่น ใช้เป็นอุปกรณ์ดามขาที่หัก
  • ช่วยให้คุณเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้น มีรายงานว่าการวิจัยว่าการใช้ ไม้เท้าเดินป่าจะช่วยเผาพลาญแคลอรี่ในร่างกายได้มากกว่าการไม่ใช้ถึง 20%
  • ใช้เป็นอุปกรณ์ในการค้ำยันเป็นโครงเต็นท์ หรือ ทำที่กำบัง ทาร์ปแบบง่ายๆได้
  • ไม้เท้าเดินป่าบางรุ่น สามารถอดหัวตรงด้ามจับออกมาทำเป็น Monopod หรือเป็นขาตั้งกล้องแบบขาเดียวได้ เอาไว้ใช้ลดการสั่น เวลาถ่ายภาพในที่แสงน้อย แต่แบบนี้ต้องใช้มือจับอยู่นะครับ จะไม่เหมือนขาตั้งกล้องแบบ 3 ขาที่ตั้งได้เองเลย
  • ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวได้

เห็นประโยชน์ของมันหรือยังครับ ว่าทำประโยชน์อะไรได้หลายอย่างเลย และที่สำคัญที่สุดคือ ถ่ายภาพโดยไม่มีไม้เท้าเดินป่าติดมือนี่ดูไปคงไม่เท่ห์นัก หรือใครจะเถียงผม …

ใช้เป็นอุปกรณ์ในการปฐมพยาบาล

ประเภทของ TREKKING POLE

ในปัจจุบันไม้เท้าเดินป่าก็มีการพัฒนาขึ้นมาหลายๆ ด้าน บ้างก็ออกแบบให้พับเก็บได้เล็ก บ้างก็ออกแบบให้เบา หรือบ้างก็ออกแบบให้ช่วยลดความล้าที่ข้อมือของผู้ใช้ได้ หลักๆจะแบ่งประเภทของไม้เท้าเดินป่าออก เป็นกลุ่มดังนี้

  • แบบลดการกระเทือน (Anti-Shock Trekking Poles) ไม้เท้าเดินป่าแบบนี้จะมีกลไกข้างในเพื่อลดการสั่นสะเทือนจากการปักไม้เท้า ช่วยลดภาระที่ข้อมือ
  • แบบทั่วไป (Standard Trekking Poles) ไม้เท้าแบบนี้จะไม่มีกลไกในการลดแรงสั่นสะเทือน แต่ถึงจะไม่มีก็ยังสามารถทำหน้าที่หลักของไม้เท้าเดินป่า ตามที่กล่าวไว้แล้วได้อย่างครบถ้วน ปกติแบบนี้จะเบากว่าแบบที่มีกลไกลดการสั่นสะเทือน

แบบที่มีระบบลดแรงสั่นสะเทือนด้วยกลไกสปริง

แบบมาตรฐาน

  • แบบกระทัดรัด (Compact Trekking Poles) แบบนี้จะออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก บางทีด้ามจับก็อาจจะเล็กลงด้วย จะมีน้ำหนักเบา และมักจะออกแบบให้มีหลายท่อน เพื่อความสะดวกในการพับเก็บให้มีขนาดเล็กนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามยิ่งจำนวนท่อนเยอะ ความแข็งแรงก็จะน้อยกว่าเป็นท่อนเดียวเลย
  • Hiking Staff เป็นไม้เท้าสำหรับเดินทั่วๆไป จะเป็นลักษณะไม้เท้าสำหรับสภาพวะการเดินที่ไม่หนักมาก กรณีที่ต้องการเพิ่มความสมดุลในการเดินเล็กน้อย เหมือนเป็นอุปกรณ์ที่ยกระดับขึ้นมาจากไม้เท้าที่ใช้พยุงเวลาเดินเสียมากกว่า บางรุ่นก็จะมีระบบลดการสั่นสะเทือน บางรุ่นที่ปลายตรงด้ามจับสามารถปรับเป็น Monopod สำหรับล็อคกับใต้กล้อง เพื่อลดโอกาสที่ภาพที่ถ่ายจะเบลอ ในกรณีที่แสงไม่เพียงพอในการถ่ายภาพ

ไม้เท้าเดินป่าแบบ 5 ท่อน เพื่อการเก็บที่เล็ก

Hiking Staff

ส่วนประกอบของไม้เท้าเดินป่า

ก่อนที่เราจะไปถึงวิธีการใช้ เราลองมาดูองค์ประกอบหลักของไม้เท้าเดินป่ากันก่อน ถึงแม้ว่าไม้เท้าเดินป่าจะมีหลายประเภทตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนประกอบหลักๆจะเหมือนกันคือจะประกอบด้วย ส่วนประกอบเรียงตามลำดับจากบนลงล่างดังนี้

  • สายคล้องข้อมือ (Wrist Strap) เอาไว้คล้องข้อมือ ประโยชน์คือเอาไว้รองรับข้อมือ หรือส้นมือ ให้สามารถเดินได้โดยผ่อนคลายที่มือ ถ้าใช้อย่างถูกต้อง จะปล่อยไม้เท้า ไปหยิบจับอะไรได้สะดวก โดยไม่ต้องห่วงว่าไม้เท้าจะหลุดมือ เช่น การถ่ายรูป หรือ กินขนมเพิ่มพลังระหว่างเดิน ปัจจุบันมีหลายรุ่นที่สามารถปรับระยะสายให้เหมาะกับระยะข้อมือแต่ละคนได้

สายคล้องข้อมือและการจับที่ถูกต้อง

ด้ามจับ (Grip) ส่วนด้ามจับจะเป็นส่วนที่มือเรารู้สึกได้ขณะใช้งาน ในปัจจุบันมักจะผลิตจากวัสดุ เช่น

  • ไม้ค๊อก (Cork) ข้อดีคือ ทนทานต่อความชื้น เหมาะกับคนที่เหงื่อออกที่มือเยอะๆ หรือจะเอาไปใช้งานในสภาพอากาศที่ร้อนมากๆ ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนที่มือ นอกจากนั้นไม้ก็อกจะรับกับทรงของมือได้ดี
  • ยาง (Rubber) จะช่วยป้องกันความเย็นที่มือได้ดี ลดแรงสะเทือนได้ เหมาะกับการใช้งานในสภาพอากาศที่เย็นมากๆ แต่ข้อเสียคือ อาจจะร้อน หรือ เกิดการพองที่มือได้ จึงไม่เหมาะกับการใช้งานในสภาพอากาศร้อน
  • EVA โฟม (EVA Foam) คุณสมบัติช่วยดูดซึมเหงื่อที่ออกจากมือได้ และให้สัมผัสการจับที่นุ่มที่สุดในบรรดาวัสดุที่ทำด้ามจับ

ด้ามจับไม้ค็อก

ด้ามจับยาง

ด้ามจับ EVA โฟม

  • ก้านไม้เท้า (Shaft) ส่วนส่วนประกอบหลักอย่างหนึ่ง วัสดุที่ใช้กันทั่วไปคือ
    • อลูมิเนียม จะมีน้ำหนักมากกว่า ราคาจะถูกกว่า แลมีจุดเด่นในเรื่องความแข็งแรง ถ้ารับแรงกระแทกหนักๆ อลูมิเนียมจะไม่แตกหัก แต่จะงอแทน ไม้เท้าที่ทำจากอลูมิเนียมคู่นึงอาจจะหนักราว 500-600 g
    • คาร์บอน จะมีน้ำหนักเบากว่า และแน่นอนว่าราคาแพงกว่า โดยทั่วไปไม้เท้าที่ทำจากคาร์บอนคู่นึงจะหนักราว 300 -500 g ข้อดีอีกอย่างคือ กระจายแรงสะเทือนได้ดีกว่า จะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนน้อยกวา่แบบอลูมิเนียม แต่ข้อเสียคือ คาร์บอนเป็นวัสดุที่แตกหักได้ง่ายกว่าอลูมิเนียม ถ้าไปใช้ในพื้นที่ที่สมบุกสมบันมากๆ แล้วเกิดโชคไม่ดีล้มแล้วไม้ไปกระแทกด้านข้างแรงๆ ก็มีโอกาสหักได้
  • กลไกการล็อค (Locking Mechanism) เป็นระบบล็อคเพื่อปรับขนาดความยาวของไม้เท้าเดินป่า เนื่องจากไม้เท้าเดินป่ามักจะทำเป็นท่อนที่สามารถยืดหดได้ เพื่อลดขนาดในการเก็บ และปรับความยาวของไม้เท้าให้เหมาะกับลักษณะการเดินในพื้นที่แต่ละแบบ เช่น เดินขึ้นเขา ก็มักจะปรับให้สั้นลง เดินลงเขาก็มักจะปรับให้ยาวขึ้น เป็นต้น ปัจจุบันมีระบบล็อคหลายประเภท ที่พบบ่อยๆ จะมี 4 ประเภท ได้แก่
    • แบบก้านล็อคด้านนอก (External Lock Lever) เป็นระบบล็อคแบบก้านโยกเพื่อล็อค จะสะดวกในการปรับ แม้ว่าขณะนั้นจะใส่ถุงมืออยู่ก็สามารถปรับได้ง่าย
    • แบบปุ่มกด (Push Button Lock) ตัวล็อคแบบนี้จะมีปุ่มกด เพื่อคลายตัวล็อค และจะล็อคอยู่เมื่อปุ่มไปอยุ่ที่ตำแหน่งที่ออกแบบไว้
    • แบบหมุนเกลียว  (Twist Lock) เป็นระบบใช้การหมุนเกลียวเพื่อล็อค จุดเด่นคือจะค่อนข้างแข็งแรงทนทาน
    • แบบผสมผสาน (Combination Lock)  บางผู้ผลิตใช้การผสมกันของระบบล็อค เพื่อให้ได้ความสมดุลในการใช้งานที่มากขึ้น เช่น ส่วนด้านบนใช้ระบบล็อคแบบก้านล็อคด้านนอก เพื่อให้การปรับระยะทำได้ง่าย ในขณะที่ส่วนล่างใช้แบบหมุนเกลียวล็อค เพื่อเน้นความแข็งแรงทนทาน เป็นต้น

ระบบล็อคแบบปุ่มกด

ทางด้านซ้ายเป็นระบบล็อคแบบหมุน ทางด้านขวาเป็นแบบก้านล็อคด้านนอก

  • จาน (Basket) ส่วนนี้สามารถจะถอดออกได้ ส่วนใหญ่เวลาซื้อมักจะเป็นชิ้นแยกออกมาต่างหาก เวลาต้องการใช้ค่อยใส่เพิ่มเข้าไป จะมีประโยชน์ในการใส่เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ไม้เท้าจมลงไปเวลาใช้บนพื้นที่นุ่ม เช่น หิมะ หรือ โคลน
  • ส่วนปลาย (Tip) เป็นส่วนที่ต้องแข็งแรงมาก เพราะต้องกระทบพื้นดิน หรือก้อนหินระหว่างการใช้ ตรงส่วนนี้จะประกอบด้วย
    • ส่วนปลายไม้ที่เป็นโลหะคาร์ไบน์ (Carbine Tip) เหมาะกับใช้เดินในพื้นที่ขรุขระ ที่ต้องการให้ส่วนปลายของไม้เท้าปักลงไปนิดนึง เพื่อความมั่นคงในการเดิน เช่น ทางเดินดิน ทางเดินที่เป็นโคลน เป็นต้น โดยทั่วไปก็จะใช้ปลายแบบนี้ได้กับทางเกือบทุกประเภท
    • ปลายยาง (Rubber Tip) ประโยชน์ของจุกยางคือ เอาไว้หุ้มตอนเก็บไม้เท้าไม่ให้ไปทำอันตรายต่อกระเป๋าราคาแพงของเรา นอกจากนั้นจุกยางสามารถใช้ตอนเดินได้เหมือนกันนะครับ แต่จะเหมาะกับพื้นที่เป็นหิน หรือเดินตามพื้นถนนมากกว่า โดยจะมีข้อดีคือ เสียงจะไม่ดัง และเวลาปักลงไปไม่ค่อยสะเทือนขึ้นมาที่มือเรามากเท่าไหร่ แต่ข้อเสียก็คือจุกยางจะพังง่ายกว่า ปลายโลหะ ต้องมีการเปลี่ยนเป็นระยะๆ บางสถานที่จะห้ามใช้ปลายโลหะเลยก็มี เนื่องจากจะไปทำลายธรรมชาติในบริเวณนั้นๆ เช่นบริเวณที่เป็นป่าโบราณ มีตะไคร่น้ำขึ้นเต็มพื้น การใช้ปลายโลหะจิ้มลงไปจะทำให้เกิดความเสียหายทางธรรมชาติได้

ปลายแบบเป็นโลหะ

ปลายแบบใช้ยางหุ้ม

ทิ้งท้ายก่อนพบกันครั้งหน้า

เป็นยังไงครับ กับเรื่องราวของไม้เท้าเดินป่า หรือที่เราๆท่านๆ เรียกกันติดปากว่า Trekking Pole เชื่อว่าหลายๆท่านกำลังคิดว่า ทำไมเรื่องมันเยอะจัง ใช่ไหมครับ ผมก็คิดเหมือนกัน ความจริงก่อนเขียนตั้งใจจะให้จบในตอนเดียว แต่ดูๆ ไปแล้ว คงต้องยกเรื่องของ ” วิธีการใช้ที่ถูกต้อง” ไปต่อในตอนต่อไปแทน ก็ประโยชน์ของมันเยอะแบบนี้แหละครับ ถึงเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ ผมแนะนำให้ทุกท่านมีเอาไว้ใช้กัน

แล้วพบกันในตอนหน้านะครับ

อย่าลืมว่าอุปกรณ์ที่ดี ต้องมาพร้อมกับความรู้ที่ดีด้วยนะครับ

พีท