ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (Hypothermia) ตอนที่ 2 อาการและวิธีป้องกัน

สิงหาคม 6, 2016 เทคนิคการเดินทาง

 

กลุ่มอาการและวิธีป้องกัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางร้าน Pete & Paul ได้นำเสนอ สาเหตุของการเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติหรือที่เรียกว่า Hypothermia เพื่อให้นักเดินทางได้ตระหนักถึงภัยอันตรายในการเดินทางไปแล้ว ในสัปดาห์นี้ เราจะมาขยายความในส่วนของประเภทของอาการเกิดซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ อาการระดับปานกลาง  และ อาการระดับรุนแรง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่นักเดินทางจะต้องรู้ลักษณะของอาการ เพื่อกำหนดแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตัว และปฐมพยาบาลในเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วทันกับสถานการณ์

 

อาการระดับปานกลาง (MILD HYPOTHERMIA)

อาการระดับนี้จะเกิดเมื่ออุณหภูมิร่างกายลดต่ำอยู่ที่ประมาณ 35-32.2 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามการวัดอุณหภูมิแกนกลางของร่างกายในป่าเขาหรือในสถานะการณ์คับขันนั้นทำได้ยาก หรืออาจจะไม่สามารถทำได้เลยเนื่องจากต้องใช้เครื่องมือพิเศษเฉพาะด้าน โดยทั่วไปจึงมักจะใช้วิธีสังเกตุอาการเป็นหลัก หากนักเดินทางหรือเพื่อนร่วมทางมีอาการดังต่อไปนี้ให้พิจารณาได้ว่าเริ่มเกิดอาการในระดับปานกลางแล้ว

 

  1. ร่างกายสั่นและสั่นเพิ่มมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้ (Shivering)
  2. ขยับตัวได้ช้า เซื่องซึม สับสนทิศทาง พูดไม่ชัด
  3. ทรงตัวได้ไม่ดี ล้มบ่อย ควบคุมการใช้งานของมือไม่ได้
  4. ไม่สามารถตัดสินใจตามตรรกะได้

 

เมื่อพบอาการลักษณะดังกล่าวควรรีบแก้ไขอาการและปฐมพยาบาลเบื้องต้นในทันที การให้ความร้อนกลับคืนสู่ร่างกายเป็นวิธีรักษาอาการ Mild hypothermia ที่ดีที่สุดและยังควบคุมไม่ให้อาการพัฒนาไปสู่ภาวะรุนแรงมากขึ้น โดยลำดับแรกต้องลดปัจจัยความเย็นภายนอกลง โดยการพาคนเจ็บไปอยู่ในกำบัง (Shelter) ลม ฝนหรือพายุหิมะ เราอาจสร้างที่กำบังเองได้หากไม่สามารถหาได้แล้วในบริเวณนั้น การถอดเสื้อผ้าที่เปียกออกแล้วแทนด้วยเสื้อผ้าแห้ง ให้คนเจ็บอยู่ในถุงนอนหลายๆชั้น ห่อด้วยผ้าห่มฉุกเฉิน (Emergency blanket) และขณะเดียวกันก็ให้ความร้อนเพื่อช่วยเพิ่มอุณหภูมิร่างกายโดยการก่อไฟ และให้คนอื่นๆ พยายามอยู่ใกล้ชิดกับคนเจ็บไว้เพื่อเพิ่มความอบอุ่นในบริเวณนั้น หากสามารถล้อมเป็นกลุ่มเพื่อกำบังความเย็นได้ก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการให้ความร้อนกลับมาดีขึ้น

 

hypothermia-wrap-2-reduced

ให้ผู้ป่วยอยู่ในถุงนอนที่แห้งและอุ่นหลายเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนจากร่างกายเพิ่มเติม

 

ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน วิธีสัมผัสกาย (Skin-to-skin contact) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการคืนความร้อนให้กับคนเจ็บ หลักการคือการถ่ายความอบอุ่นจากคนปกติไปยังคนที่มีอาการ โดยตรง วิธีการคือให้ผู้ป่วยอยู่ในถุงนอนที่หนา แห้งและอุ่น ถอดเสื้อผ้าออก ผู้ที่จะช่วยเหลือให้ไปอยู่ถุงนอนเดียวกันและถอดเสือผ้าออกด้วย จากนั้นกอดตัวผู้ป่วยไว้เพื่อให้ร่างกายสัมผัสกัน ทิ้งระยะเวลาสักพักเพื่อให้ความร้อนถ่ายเทระหว่างร่างกาย หลังจากนั้นผู้ช่วยเหลือออกมาจากถุงนอนใส่เสื้อผ้า รอพักให้อุณภูมิร่างกายกลับมาเป็นปกติ แล้วจากนั้นเข้าไปในถุงนอนใหม่ ทำซ้ำไปมาอย่างนี้จนคนเจ็บมีอาการดีขึ้น ในแต่ละครั้งผู้ช่วยเหลือจะต้องระวังไม่ให้ตนเองสูญเสียความร้อนมากเกินไปจน มีอาการเสียเอง ถ้ามีผู้ที่สามารถช่วยได้หลายคนก็ให้สลับกันเข้าไปในถุงนอนเพื่อช่วยผู้ป่วย ด้วยการสัมผัสกาย หากมีให้ใส่ถุงร้อน (Heat pack) ในถุงเท้าและวางบริเวณ ซอกคอ รักแร้ (Under arm) และช่วงขาหนีบ (Groin) จะเป็นการช่วยคืนความร้อนกลับให้ร่างกายคนเจ็บได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

placing_heat_pack

การเพิ่มความร้อนให้กับร่างกายด้วยการแปะถุงร้อนบริเวณซอกคอ รักแร้และขาหนีบ

 

เนื่องจากอาการ Hypothermia จะทำให้ร่างกายขับปัสสาวะจนเกิดอาการเสียน้ำ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพยายามทดแทนน้ำส่วนที่เสียไป ผู้ช่วยเหลือพยายามให้ผู้ป่วยค่อยๆดื่มน้ำอุ่นเมื่อทำได้ ระดับน้ำในร่างกายที่สมดุลจะทำให้การเผาผลาญพลังงานเพื่อสร้างความร้อนนั้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากนั้นให้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเชิงเดี่ยวซึ่งย่อยสลายได้ง่าย และให้ความร้อนไว เช่น น้ำผึ้งมะนาวร้อน หรือ ช็อคโกแล็ต ระวังอย่าให้เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และหวานจัดๆ ควรงดเครื่องดื่มบำรุงกำลังเช่น เกเตอร์เรท เพราะปริมาณน้ำตาลและอิเล็กโตรไลต์ที่เข้มข้นเกินไปจะทำให้แตกตัวยาก ทำให้ระบบการย่อยสลายของร่างกายผู้ป่วยที่อ่อนแรงอยู่แล้วทำงานผิดปกติ จนเมื่ออาการดีขึ้นและคนเจ็บเริ่มเคี้ยวและกลืนอาหารได้ก็ค่อยๆให้อาหารจำ พวกคาร์โบรไฮเดรทและน้ำตาลโมเลกุลสูง เช่น โอ๊ตมีล ซุป จากนั้นจึงเริ่มให้อาหารที่มีโปรตีนและไขมันในลำดับต่อๆไป ข้อพึงพิจารณาหนึ่งคือร่างกายของเราไม่สามารถย่อยสลายไขมันได้ดีเมื่อระดับความสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารที่มีไขมันมากกับคนเจ็บซึ่งเกิดอาการในภูมิประเทศดังกล่าว พยายามให้คนเจ็บขยับไปมาเมื่อทำได้เพื่อเพิ่มการสร้างความร้อนภายร่างกาย ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการได้รวดเร็วขึ้น

 


 

ระดับรุนแรง หรือ SEVERE HYPOTHERMIA

 

เมื่ออุณหภูมิแกนกลางของร่างกายต่ำกว่า 32.2-30 องศาเซลเซียส ร่างกายจะเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติและไม่สามารถสร้างความร้อนคืนมาได้ด้วยตัวเองอีก กล้ามเนื้อหัวใจจะทำงานผิดจังหวะ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจนอุณหภูมิร่างกายต่ำเหลือประมาณ 25 องศาเซลเซีย ระบบต่างๆของร่างกายจะล้มเหลวและคนเจ็บจะเสียชีวิตในที่สุด

เมื่อผู้ป่วยมีลักษณะอาการในกลุ่มนี้ จะถือว่าอยู่ในระดับอาการรุนแรงแล้ว

  1. ร่างกายหยุดสั่น
  2. กล้ามเนื้อแข็งทื่อ ควบคุมและขยับร่างกายไม่ได้
  3. สับสน ความจำลบเลือน หรือหมดสติ
  4. ผิวซีดเนื่องจากไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง
  5. ชีพจรอ่อน ช้า และไม่เป็นจังหวะ
  6. หายใจเบามากจนแทบตรวจจับไม่ได้

 

ผู้ป่วย Severe Hypothermia จะมีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุดเมื่อได้รับการรักษาในสถานพยาบาลที่มีเครื่องมือ อุปกรณ์พร้อม ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยในระดับนี้คือการอพยพผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการรักษาจากมืออาชีพอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ระหว่างรอการเคลื่อนย้ายต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการป้องกันการสูญเสียความร้อนจากร่างกายเพิ่มเติมเหมือนที่ได้กล่าวไปคือ อยู่ในที่กำบัง สวมใส่เสื้อผ้าแห้ง ให้อยู่ในถุงนอนอุ่นๆหลายชั้น ที่สำคัญคือให้คนเจ็บนอนหงายเฉยๆอย่าให้ขยับตัวเพราะอาจทำให้หัวใจเต้นผิด จังหวะและเป็นอันตรายได้ ในกรณีผู้ป่วยหยุดหายใจอาจช่วยด้วยการปัมป์หัวใจแบบ CPR (Cardio pulmonary resuscitation) หากอยู่ในที่ทุรกันดารไม่สามารถอพยพคนเจ็บได้ในเวลารวดเร็ว ให้ช่วยเพิ่มความร้อนกลับไปสู่ร่างกายผู้ป่วยแบบช้าๆ ด้วยวิธี Skin-to-skin contact และแปะถุงความร้อน ห้ามเพิ่มความร้อนปริมาณมากแบบทันทีทันใดกับผู้ป่วยเด็ดขาดเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการช็อค หากผู้ป่วยยังมีสติ พยายามให้เครื่องดื่มร้อนอย่างช้าๆทีละน้อยๆและหากผู้ป่วยสามารถกลืนได้ ค่อยให้อาหารแบบที่ได้กล่าวไปในปริมาณน้อยก่อนและค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นเมื่อได้สติกลับมา กระบวนการนี้ใช้เวลายาวนาน ปกติมากกว่า 24 ชั่วโมงสำหรับอาการขั้นวิกฤติ ดังนั้นต้องอาศัยความทุ่มเทอย่างมาก พยายามขยับเขยื้อนร่างกายคนเจ็บให้น้อยที่สุดระหว่างการคลื่อนย้าย ปัจจัยหลักหนึ่งที่ทำให้ผู้มีอาการ ในระดับรุนแรง เสียชีวิตคือตัวเองหมดความพยายามที่จะมีชีวิตรอด ดังนั้นผู้ช่วยเหลือต้องให้กำลังใจและพูดคุยด้วยความหวังและทัศนคติเชิงบวก อย่ายอมแพ้ ต้องคิดเสมอว่าผู้ป่วยยังไม่เสียชีวิตแม้สภาพจะดูแย่เพียงใดก็ตาม

 

hypothermia-evacuation

ผู้ป่วยระดับรุนแรงระหว่างเคลื่อนย้าย

 


 

วิธีป้องกันอาการ HYPOTHERMIA ได้ด้วยตัวเองระหว่างการเดินทาง

ดังนี้ในบทความได้กล่าวไปแล้ว ท่านผู้อ่านจะเห็นถึงระดับความอันตรายของการเกิดอาการ Hypothermia ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดอาการเสียตั้งแต่แรก โดยการประพฤติปฏิบัติตัวในการเดินทาง ดังต่อไปนี้

 

winter-workout-layers_fe

ตัวอย่างการใส่เสื้อผ้าหลายๆชั้น ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น

 

  1. ศึกษาเส้นทางการเดินทางประกอบกับแผนที่ นักเดินทางต้องทราบตำแหน่งที่ตัวเองอยู่ตลอดเวลา และทราบวิธีไปยังที่ปลอดภัยหรือขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการฉุกเฉิน
  2. ทานอาหารให้เพียงพอและดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ อาหารที่ทานต้องมีสารอาหารที่เหมาะสมให้พลังงานดี ของว่างประเภท ถั่ว ผลไม้อบแห้ง สแน็กหรือกรานูล่าบาร์ เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับทานระหว่างพักและขั้นระหว่างมื้อหลัก ควรเตรียมอาหารและน้ำให้พอเผื่อประมาณ 1-2 วัน สำหรับกรณีฉุกเฉิน
  3. ใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับภาพอากาศ ควรมี Base layer ที่ดูดซับเหงื่อและระเหยความชื่นได้ง่ายโดยไม่ดูดความร้อนจากร่างกายมาก สวมทับด้วยชั้นถัดไปเพื่อป้องกันความเย็น เช่น ฟลี๊ซแจ็กเก็ต พุลโอเวอร์ กางเกงเอาท์ดอร์ ชั้นนี้ควรหลวมเล็กน้อยเพื่อให้มีช่องว่างจาก Base layer โดยอากาศที่คั่นระหว่างกลางจะทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันการเสียความร้อนได้ อย่างดี กรณีฝนหรือหิมะตกควรมีเสื้อและกางเกงชั้นนอกเพื่อกันน้ำซึมเข้ามายังเสื้อ ผ้าชั้นใน หากเดินหรือทำกิจกรรมแล้วรู้สึกร้อนก็ถอดเสื้อผ้าบางชั้นออกเพื่อช่วยระบาย อากาศและทำให้เย็นขึ้น เก็บเสื้อผ้าที่ไม่ได้สวมใส่ในถุงกันน้ำเพื่อให้แห้งอยู่เสมอและสามารถ เปลี่ยนแทนเสื้อผ้าที่เปียกได้ในทันที ข้อพึงระวังคืออย่าใช้เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายในสภาพอากาศเย็นเพราะผ้าฝ้า ดูดน้ำได้ดีมากแต่จะใช้ความร้อนเพื่อให้น้ำระเหยออกจากผ้ามากเช่นกัน ดังนั้นเนื้อผ้าเปียกจะเปียกอยู่นานและจะดึงความร้อนจากร่างกายได้เยอะดัง นั้นจะช่วยเร่งให้เกิด Hypothermia ขึ้น ในประเทศสหรัฐอเมริกาถึงกับมีประโยคที่พูดกันในหมู่นักเดินทางกลางแจ้งว่า Cotton kills! (ผ้าฝ้ายฆ่าคุณได้)
  4. เรียนรู้ทักษะเพื่อเอาชีวิตรอดได้ในสถานะการณ์ฉุกเฉิน เช่น การสร้างกำบังฉุกเฉิน จุดไฟในสภาพเปียก หาอาหารและน้ำในป่าเขาลำเนาไพร และการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
  5. เดินทางไปกับเพื่อนร่วมทางจะได้ช่วยเหลือกันได้ในยามฉุกเฉิน
  6. สร้างทัศนคติเชิงบวก มองโลกในแง่ดี ควบคุมสติ มีความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตรอดในสถานะการฉุกเฉิน

 

92bc1d249da7e48a_granola-bars

ตัวอย่างอาหารเสริมให้พลังงานพวกสแน็กหรือกรานูล่าบาร์