เต็นท์กันน้ำได้มากน้อยแค่ไหน ดูอย่างไร
ก่อนที่เราจะเลือกซื้อเต็นท์นอนซักหลังนั้น นอกจากน้ำหนัก จำนวนคนที่นอน เนื้อผ้าที่เลือกใช้ ลักษณะการใช้งานแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราควรจะต้องพิจารณาก็คือ ค่าการกันน้ำ หรือ ที่เรียกว่า Waterproof นั่นเอง การจะดูว่าเต็นท์กันน้ำได้มากน้อยแค่ไหนนั้น เราสามารถดูได้จากค่าที่เรียกว่า Hydrostatic Head หรือตัวย่อ HH โดยค่านี้จะบอกเป็นหน่วย mm (มิลลิเมตร)
ท่านผู้อ่านอาจจะเคยเห็นรายละเอียดของ Tent ที่วางขายกันทั่วไป จะมีการเขียนกำกับไว้ว่าเต้นกันน้ำได้กี่ mm โดยค่านี้จะมีค่าอยู่ที่ 1,000- 10,000 mm ยิ่งค่ามากเท่าไหร่ก็หมายความว่ามีคุณสมบัติในการกันน้ำได้มากขึ้นเท่านั้น ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ที่ขายกันในประเทศไทยค่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000-3,000 mm ดังตัวย่างในรูปที่แสดงอยู่ด้านท้ายของบทความนี้
เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเริ่มรู้สึกอยากจะรู้แล้วว่า ที่มาของการกันน้ำที่บอกเป็น mm นี้ มีความหมายอย่างไร ? ลองนึกภาพง่ายว่าถ้าเราเอาหลอดน้ำมาตั้งไว้ โดยที่ปลายด้านล่างเอาผ้าใบเต็นท์สนามมาขึงไว้ แล้วค่อยๆ เทน้ำลงไปในหลอดจากด้านบน ความสูงของระดับน้ำในหลอดก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อมีปริมาณน้ำมากขึ้นๆ ตัวผ้าใบที่อยู่ปลายด้านล่างจะโดนแรงดันของน้ำกดลงมามากขึ้นเรื่อยๆตามระดับความสูงของน้ำ เมื่อเพิ่มระดับความสูงของน้ำจนถึงจุดๆหนึ่งที่เริ่มสังเกตุเห็นการรั่วของน้ำออกมาทางอีกฝั่งของผ้าใบ (ประมาณ 3 หยด) ณ ตำแหน่งความสูงเป็นหน่วย mm ของหลอดน้ำนั่นแหละครับ คือค่า Hydrostatic Head ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่ายิ่งค่าระดับความสูงในหน่วย มิลลิเมตร มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งกันน้ำได้มากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่นเต็นท์ที่เขียนว่า ระดับการกันน้ำ 1,500 mm จะหมายถึงว่า ผ้าใบสามารถจะทนน้ำระดับความสูง 1500mm ได้ก่อนที่จะเริ่มรั่ว ซึ่งในโลกความเป็นจริงแล้ว ผู้อ่านอาจจะเทียบยากว่าแล้วระดับน้ำสูง 1,500 mm นี่มันมากแค่ไหนกัน ผมยกตัวอย่างฝนที่ตกปรอยๆ จะต้องการการค่า HH อยู่ที่ราว 1,000 mm แต่ถ้าหากฝนตกหนัก และมีลมพัดแรงจะทำให้แรงกดของน้ำมากยิ่งขึ้น ดังนั้นค่าการกันน้ำก็จำเป็นจะต้องใช้มากขึ้นเป็นราว 2,000 mm เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับแผ่นรองพื้นเต็นท์หรือ Ground Sheet ได้มีแรงกดทับมากกว่า เช่น น้ำหนักกดทับจากการเดิน นั่ง นอน ก็ควรจะมีค่าการกันน้ำที่สูงกว่า เนื่องจากบริเวณพื้นจะเป็นบริเวณที่มีน้ำไหลลงมาขังอยู่ และเมื่อได้น้ำหนักจากตัวคนที่นอนกดทับลงไปอีก ก็อาจจะทำให้น้ำซึมเข้ามาได้ เป็นต้น ดังนั้นเต็นท์สนามส่วนใหญ่การกันน้ำจะบอกแยกกันว่าเป็นส่วนของพื้น หรือส่วนด้านบน โดยด้านที่รองพื้นก็มักจะมีค่าการกันน้ำที่สูงกว่า
คำถามต่อมาที่มักจะถามกันก็คือ แล้วเราควรเลือกใช้ค่าการกันน้ำที่เท่าไหร่ดี เกณฑ์โดยทั่วไปในการพิจารณาก็คือ ค่าการกันน้ำ 1,500 mm โดยทั่วไปจะเหมาะกับการใช้งานในฤดูร้อน แต่ถ้าเอาแบบสามารถใช้ได้ตลอดทั้งปีก็ควรจะอยู๋ที่ 2,000 mm เป็นอย่างต่ำ และสำหรับเต้นท์ที่ใช้ในสภาพวะอากาศที่แปรปรวนมาก มีฝนตกบ่อยๆ ก็มักจะอยู่ที่ 3,000 mm เป็นอย่างน้อย
ตัวอย่างการทดลองในห้องทดลองที่ใช้การอัดแรงดันของน้ำแทนการใช้หลอด สามารถเทียบแรงดับที่กดเป็น mm ได้
ยิ่งค่าการกันน้ำสูงเท่าไหร่ราคาเต็นท์ก็มักจะแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะต้องใช้กระบวนการในการเคลือบผิว (Coating) เนื้อผ้า ถ้าเป็นรุ่นที่กันน้ำได้ดี จัดอยู่ในระดับสูงก็จะใช้ Silicone เคลือบเต้นท์ แต่ถ้าเป็นเต้นท์ราคาถูกลงมา แบบที่มีใช้กันทั่วๆไปก็จะใช้สาร Polyurethane (PU) ในการเคลือบ อย่างไรก็ตาม การกันน้ำนี้จะไม่คงอยู่ถาวรตลอดไป เนื่องจากสารเคลือบผิวมีอายุของมันอยู่ ส่วนจะนานแค่ไหนก็ขึ้นกับว่าใช้บ่อยแค่ไหน ตากแดดลมบ่อยๆ ก็จะทำให้เคลือบกันน้ำหลุดร่อนไปตามอายุของมัน ทั้งนี้เนื้อผ้าที่ใช้ทำก็มีผลอยู่บ้างในเรื่องของการกันน้ำ แต่โดยส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการเคลือบผิวมากกว่า
นอกจากเรื่องของการเคลือบผิวแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาเรื่อง ได้แก่
- การเชื่อมต่อของเนื้อผ้า เนื่องจากผ้าใบอาจมีการเย็บเพื่อเชื่อมต่อกัน ตรงบริเวณที่เป็นตะเข็บ ควรจะมีการติดเทปเพื่อป้องกันน้ำซึมเข้าทางรอยเย็บ
- อายุการใช้งานก็เป็นอีกอย่างที่มีผล เนื่องจากสารเคลือบกันน้ำจะมีการเสื่อมสภาพเมื่อโดนแดด ทำให้เมื่อใช้งานไปนานๆ คุณสมบัติการกันน้ำก็จะลดลง
ตัวอย่างรายละเอียดของเต็นท์ในส่วนของการกันน้ำ
Karana E-co dome 2 ผ้าโพลีเอสเตอร์ 210T เคลือบกันน้ำ 3,000 มม. ผ้าฟลายชีท ผ้าโพลีเอสเตอร์ 210T เคลือบกันน้ำ 3,000 มม. พร้อมเทปเคลือบตามรอยเย็บ |
สนามเดินป่า – แบบ Beam นอน 2 คน ผ้า Polyester 210T เคลือบกันน้ำ 2,000 mm. Fly Sheet เป็นผ้า Polyester 230T เคลือบกันน้ำ 3,500 mm. |
|
Naturehike Cloud UP 2 Tent fly waterproof index – 5,000MM Tent bottom waterproof index – 5,000MM |
Moutain Smith – Morrison 2 Fly: 185t Poly PU2,000MM Floor: 190td Poly PU5,000MM |