จังหวะการเดิน ในการเดินป่า

บ่อยครั้งที่มือใหม่มักจะผิดพลาดในการเดินป่า  ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น การที่เร่งรีบเดิน พยายามวิ่งขึ้นไปบนเขาอย่างรวดเร็ว … เพียงเพื่อจะหมดแรงระหว่างวัน ในขณะที่คนที่สภาพร่างกายไม่ฟิตมากก็จะเร่งเดินตาม และจะหยุดพักยาวๆ บ่อยๆ

ทั้ง 2 แบบนี้ไม่ได้นำไปสู่การเดินป่าที่มีประสิทธิภาพเลย การเดินรักษาจังหวะก้าวเท้าอย่างมั่นคงตลอดทั้งวัน และการหยุดพักสั้นๆ ทุกช่วงระยะเวลาหนึ่ง ต่างหากที่จะช่วยให้เราสามารถที่จะเดินได้ไกลมากขึ้น  โอกาสบาดเจ็บลดลง มากกว่าที่จะเร่งรีบเดินขึ้นเขาไป ส่วนแต่ละคนจะไปได้เร็วแค่ไหนนั้นก็ขึ้นกับ ความพร้อมของสภาพร่างกายของทั้งกลุ่ม สภาพพื้นที่ ระดับความสูง และน้ำหนักของในกระเป๋าเป้ของแต่ละคน 

อย่างไรก็ตาม เราจะเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ถ้าหากเราเลือกเดินในจังหวะการเดินที่ทั้งกลุ่มสามารถเดินได้สบายเป็นชั่วโมงๆ  และวิธีที่ดีที่สุดที่จะวัดและปรับจังหวะการเดิน คือ การพิจารณาจังหวะลมหายใจของตัวเอง

แนวคิดคือ จังหวะลมหายใจของตัวเองควรจะเป็นตัวกำหนดจังหวะการเดิน ไม่ใช่จังหวะการเดินที่เป็นตัวกำหนดลมหายใจ

นักเดินป่ามืออาชีพหลายคน ชอบที่จะให้ร่างกายทำงานอย่างต่อเนื่องที่ความเร็วรอบขาสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไร  ยกตัวอย่างว่า ในพื้นราบ คุณเดินได้ 3 ก้าวต่อการหายใจเข้า และ 3 ก้าวต่อการหายใจออก  ในขณะที่เดินขึ้นเขา ในขณะที่รักษาจังหวะการหายใจไว้  จังหวะการก้าวของคุณอาจจะตกลงเหลือ 2 ก้าว หรือก้าวเดียวต่อการหายใจเข้า 1 ครั้ง ที่ระดับความสูง หรือทางขึ้นเขาที่ชัน จังหวะการเดินอาจจะช้ามาก กว่าจะก้าวได้ 1 ก้าว คุณต้องหายใจเข้าออกอยู่หลายครั้ง

หลักการทีได้รับการยอมรับโดยทั่วกันคือ การก้าวเดินในจังหวะที่ช้ามากเพียงพอที่คุณยังคงพูดคุยสนทนาระหว่างการเดินได้อยู่

จำไว้ว่า เวลาที่คุณใช้บนภูเขานั้นยาวนาน บางทีคุณอาจจะใช้แรงเร่งให้เต็มที่ไปเลยก็ได้ถ้าไปทริปแค่วันเดียว แต่ถ้าต้องเดินต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 3 วัน คุณก็ควรจะต้องมีแรงเหลือเผื่อไว้ด้วย

ถ้าหากคุณเดินหนักทุ่มสุดตัวตั้งแต่วันแรกๆ นั่นคือคุณกำลังอยู่บนความเสี่ยงของการเกิดการบาดเจ็บ คงไม่มีใครที่อยากจะเดินหนักมากเสียจนเมื่อไปถึงที่ตั้งแค้มป์แล้วหมดสภาพ ไม่มีแรงเหลือจะมาเตรียมแค้มป์ และจัดการกับเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เช่นเดียวกับที่ควรจะมีเสื้อผ้าแห้งสำหรับเปลี่ยนในเวลาที่อากาศหนาวจัด คุณก็ควรที่จะมีแรงเหลือเผื่อเอาไว้ทั้งวัน หรือตลอดทั้งทริป

เวลาที่เดินป่านั้น อย่าหยุดพักบ่อย และอย่าพักยาวนานเกินไป ถ้าต้องหยุดพักทุก 20 นาที นั่นหมายความว่าคุณเดินเร็วมากเกินไป หรือไม่ก็สภาพร่างกายไม่แข็งแรงพอ หรือไม่ก็อาจจะเกิดจากทั้ง 2 อย่างประกอบกัน

เราจะไปไม่ถึงไหนเลย ถ้าหยุดพักบ่อยมากเกินไป หลักการที่ยึดถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปคือ เดิน 1 ชั่วโมง และหยุดพัก 10 นาที  ทั้งนี้อาจจะพักต่อให้นานขึ้นกว่านั้นก็ได้ ขึ้นกับสภาพในขณะนั้น

แต่ประเด็นหลักคือ ถ้าเราสามารถที่จะสร้างจังหวะการเดินที่สม่ำเสมอ โดยมีการหยุดพักสั้นๆ และหยุดเป็นรอบๆได้เราจะไปได้ไกลขึ้นและเร็วยิ่งกว่าคนที่หยุดและเร่งเป็นพักๆ

ปัญหาต่อมาคือ การหยุดพักยาวมากกว่า 15 นาที นั้นจะทำให้เราช้าลง

ในการเดินป่าเป็นกลุ่มนั้น ควรจะจัดระเบียบการหยุดพักให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนในกลุ่มรู้ว่าเมื่อใดควรวางกระเป๋าและเมื่อใดก็ตามที่พร้อมจะเดินต่อ จะต้องไม่มีใครยืนแบกเป้หนัก 20 kg บนหลัง ในขณะที่สมาชิกในทีมคนอื่นยังคงนั่งทาครีมกันแดดอยู่

การค้นหาจังหวะการเดินที่สมบูรณ์แบบสำหรับตัวคุณเองและการค้นหาจังหวะที่เหมาะสมสำหรับทั้งกลุ่มเป็นคนละเรื่องกัน หากคุณโชคดีและได้เดินทางกับสมชิกทีมที่มีร่างกายแข็งแรงพอๆกัน ความเร็วของทั้งกลุ่มก็จะเหมาะสมกับความเร็วการเดินของสมาชิกทุกคน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สภาพร่างกายของแต่ละคนมักจะมีความแตกต่างกัน บางคนเดินเร็วและบางคนเดินช้า บางคนมาจากพื้นที่ต่ำ ในขณะที่บางคนก็อาศัยอยู่บนภูเขาสูง บางคนมีสุขภาพสมบูรณ์พร้อม และก็มีบางคนก็มีวันที่แย่ เช่น ป่วยหรือเจ็บเข่า ….  ท้ายที่สุดแล้ว ความเร็วของกลุ่มของคุณควรถูกกำหนดโดยนักปีนเขาที่ช้าที่สุดในกลุ่มของคุณ

ก่อนที่คุณจะเริ่มการเดินทาง คุณควรเลือกเส้นทางเดินที่สมาชิกที่อ่อนแอที่สุดในกลุ่มยังสามารถเดินได้สบาย  อาจเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดมากสำหรับคนที่มีสภาพร่างกายที่แข็งแรงที่จะต้องชะลอความเร็วเพื่อคนที่มีสภาพร่างกายด้อยกว่า แต่การรักษาขวัญกำลังใจของนักเดินป่าที่ไม่แข็งแรง ขณะเดียวกันก็ลดความหงุดหงิดจากการที่ต้องเดินช้าลงของนักเดินป่าที่สภาพร่างกายแข็งแรง นั้นเป็นการรักษาสมดุลและการทดสอบความเป็นผู้นำของกลุ่ม

จังหวะการก้าวเดินที่เร็วจนเกินไปจะทำให้สมาชิกที่ไม่แข็งแรงหมดแรง ในระยะยาวจะนำไปสู่ปัญหาด้านขวัญกำลังใจ และอาจจะลามไปเป็นปัญหาสุขภาพ คุณอาจพิจารณาให้นักเดินป่าที่เดินช้าที่สุดอยู่ข้างหน้าเพื่อที่เขาหรือเธอจะกำหนดจังหวะการก้าวให้คนอื่นๆ และหากเป็นไปได้ ให้แบ่งน้ำหนักจากคนที่ไม่แข็งแรงมากมา และแจกจ่ายให้กับคนที่แข็งแรงกว่ามากๆ (ควรทำโดยมีเหตุผลรองรับ และ พยายามอย่ายกเกิน 40 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว)

บุคคลที่ถูกกดดันจนถึงขีดจำกัดของร่างกายและทำให้เขารู้สึกว่าเป็นภาระต่อกลุ่มจะถูกบั่นทอนจิตใจ ขวัญเสีย และจะเดินได้ช้ากว่าการที่ทั้งกลุ่มให้กำลังใจ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ นักเดินป่าที่แข็งแรง อาจจะได้รับมอบหมายให้อ่านแผนที่ หรือแม้กระทั่งดูแลให้ทุกคนมีความสุขระหว่างการเดิน โดยอาจจะเรียกว่าเป็น หัวหน้าเส้นทางก็ได้ เมื่อได้ทำหน้าที่นำทางหรือทำงานอื่นที่ได้รับมอบหมายก็จะช่วยให้พวกเค้าเดินในจังหวะที่ช้าลงได้เอง

อ้างอิง

หนังสือ The National Outdoor Leadership School’s Wilderness Guide: The Classic Handbook   โดย Harvey, Mark W. T.